องค์การสหประชาชาติ กล่าวถึงรายงานการประเมินความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศระดับโลกว่า ธรรมชาติในโลกกำลังเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว ในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งปัจจัยหลัก มาจากมนุษย์ที่ต้องการอาหารและพลังงานเพิ่มมากขึ้น สายพันธุ์ของพืชและสัตว์กว่า 1,000,000 สายพันธุ์ กำลังถูกคุกคามและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลก
รายงานการประเมินดังกล่าว จัดทำโดยหน่วยงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ (Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services : IPBES) ได้รวบรวมแหล่งข้อมูลจาก 15,000 แหล่ง โดยผู้เชี่ยวชาญ 145 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก โดยมองถึงสภาวะของความหลากหลายทางชีวภาพบนโลกในอีก 15 ปีข้างหน้า
เซอร์ โรเบิร์ต วัตสัน (Sir Robert Watson) ประธานการประชุมเวทีวิทยาศาสตร์ IPBES กล่าวว่า “มนุษย์กำลังกัดกร่อนรากฐานของเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ ความมั่นคงด้านอาหาร สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลก ความกังวลส่วนตัวของผมคือสภาวะของมหาสมุทรขณะนี้ ทั้งพลาสติก การทำประมงเกินขนาด ความเป็นกรดของทะเล เรากำลังทำลายมหาสมุทรอย่างมหาศาล”
ดร.เคท บราวแมน (Kate Brauman) จากมหาวิทยาลัยมินเนโซตา กล่าวว่า “บ่อยครั้งที่อาหาร การกินของคนในสมัยนี้ ไม่ดีต่อสุขภาพและต่อโลก ซึ่งเราสามารถมีสุขภาพดีขึ้นได้ด้วยการรับประทานอาหาร ที่หลากหลาย รับประทานผักมากขึ้น และรักษาโลกด้วยการผลิตอาหารโดยใช้กระบวนการที่ยั่งยืนกว่าเดิม” และยังเสริมด้วยว่า “ได้เห็นการเสื่อมสภาพธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพที่ไม่เคยมีมาก่อน นี่แตกต่างจากทุกอย่างที่เราเคยเห็นมาในประวัติศาสตร์มนุษย์”
จากรายงานการประเมินฯ พบตัวเลขของการเสื่อมถอย เช่น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 มลพิษพลาสติกเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่า และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 0.7 องศาเซลเซียส พื้นที่เขตเมืองเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 มากกว่าหนึ่งในสามของผืนดิน และกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของแหล่งน้ำจืดถูกใช้ไปกับการเพาะปลูกและปศุสัตว์
สายพันธุ์ของสัตว์และพืชประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ ระบบนิเวศทางธรรมชาติเสื่อมถอยลง 47 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการประเมินครั้งแรกๆ ที่เคยทำในอดีต ความหลากหลายสายพันธ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในป่าลดลงถึง 82 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุการเสื่อมถอยดังกล่าว เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเปลี่ยนสภาพที่ดินจากทุ่งหญ้ามาปลูกพืชไร่ การตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะในพื้นที่เขตร้อนเพื่อที่จะผลิตอาหาร เครื่องนุ่งห่ม การทำประมงเกินขนาด การล่าสัตว์ การรุกรานของสัตว์ต่างถิ่น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รายงานดังกล่าวสรุปว่า เพื่อปกป้องโลกของเราให้อุดมสมบูรณ์ ทุกคนบนโลกต้องเปลี่ยนความคิด จากการมุ่งพัฒนาการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจ มาให้ความสำคัญกับธรรมชาติบนพื้นฐานความเข้าใจที่ว่า ธรรมชาติคือรากฐานของการพัฒนา การวางแผนโดยยึดเอาธรรมชาติเป็นฐาน จะเป็นจุดเริ่มต้นของคุณภาพชีวิตที่ดี และลดผลกระทบในแง่ลบได้มาก การสร้างการเปลี่ยนแปลงสามารถทำได้ตั้งแต่ตัวเรา ไม่ใช่แค่ระดับท้องถิ่น หรือระดับรัฐบาลเท่านั้น
ภาพจาก :
https://www.un.org/sustainabledevelopment/blog/2019/05/nature-decline-unprecedented-report/
ที่มาข้อมูล :
https://www.un.org/sustainabledevelopment/blog/2019/05/nature-decline-unprecedented-report/
https://www.nationalgeographic.com/environment/2019/05/ipbes-un-biodiversity-report-warns-one-million-species-at-risk/
https://www.bbc.com/thai/international-48178882
ผู้เขียน : นางมณีรัตน์ เปานาเรียง
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวพีรนุช กัณหดิลก
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวพีรนุช กัณหดิลก