ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาโรคระบาดร้ายแรง ที่ชื่อว่า “โรคหนอนเน่าอเมริกัน” (American Foulbrood Disease) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า Paenibacillus larvae ในระยะตัวอ่อนของผึ้ง ซึ่งมีจุดกำเนิดในประเทศสหรัฐอเมริกา และแพร่กระจายไปทั่วโลก และในปัจจุบันกำลังเกิดการระบาดอย่างหนักในทวีปอเมริกาและยุโรป สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมเลี้ยงผึ้ง และอุตสาหกรรมการเกษตรอื่น ๆ เป็นมูลค่ามหาศาล นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามคิดค้นวิธีต่าง ๆ เพื่อปกป้องผึ้งจากโรคร้ายแรงนี้
วัคซีน (Vaccines) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีการแพทย์ที่สำคัญ ซึ่งช่วยปกป้องมนุษย์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจากโรคภัยไข้เจ็บร้ายแรงต่าง ๆ การผลิตวัคซีนป้องกันโรคในมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่การผลิตวัคซีนสำหรับแมลงนั้นแตกต่างกันออกไป เพราะแมลงไม่มีแอนติบอดี (Antibody) หรือสารภูมิต้านทาน ภูมิคุ้มกันของพวกมันจึงไม่มีสามารถจดจำการกระตุ้น และไม่จำเพาะเจาะจงต่อเชื้อโรค การผลิตวัคซีนสำหรับแมลงจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง และไม่เคยมีใครทำสำเร็จมาก่อน
บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพสัตว์ดาลาน (Dalan Animal Health Company) และนักกีฏวิทยา จากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย (University of Gorgia) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกันพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคหนอนเน่าอเมริกัน ซึ่งอาศัยกลไกที่เรียกว่า กลไกการสร้างภูมิคุ้มกันข้ามรุ่น (Trans-Generational Immune Priming Mechanism) โดยทำการผสมเชื้อแบคทีเรียก่อโรคหนอนเน่าอเมริกันที่อ่อนแรงและไม่ก่อโรคเข้าไปในนมผึ้ง เมื่อผึ้งราชินีได้รับนมผึ้งจากการป้อนของผึ้งงาน โปรตีนไวเทลโลเจนนิน (Vitellogenin) จะเข้าจับเชื้อ กระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันบางส่วนที่รังไข่ และสามารถถ่ายทอดภูมิคุ้มกันนี้ให้กับตัวอ่อนของผึ้งที่อยู่ในไข่ด้วย
ในเดือนเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพสัตว์ดาลาน ได้ประกาศความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนสำหรับผึ้งที่กล่าวมาในข้างต้น และได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Agriculture หรือ USDA) ได้อนุมัติให้มีการใช้วัคซีนดังกล่าวในประเทศสหรัฐอย่างเป็นทางการ และคาดว่าจะมีการเริ่มจำหน่ายวัคซีนดังกล่าวในเร็ว ๆ นี้
แอนเนตต์ ไคลเซอร์ (Anette Kleiser) ผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพสัตว์ดาลาน อธิบายว่าการพัฒนาวัควีนสำหรับผึ้งในครั้งนี้ สามารถนำไปต่อยอดในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้ออื่น ๆ ในผึ้ง เช่น โรคหนอนเน่ายุโรป (European Foulbrood Disease) เป็นต้น กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนวิธีการดูแลผึ้ง ซึ่งเป็นแมลงที่มีคุณค่าต่อการเกษตร และเศรษฐกิจ เพราะอาหารจากพืช 3 ใน 4 ที่ทั่วโลกผลิตได้นั้นคือผลผลิตที่มาจากกิจกรรมของผึ้ง นักผสมเกสรที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในโลก
เรียบเรียงโดย : ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
Link ที่เกี่ยวข้อง:
Study Reveals First-Ever Insect Vaccine for Honeybees is Safe and Effective. [ออนไลน์]. 2023, แหล่งที่มา: https://www.businesswire.com/news/home/20221018005419/en/Study-Reveals-First-Ever-Insect-Vaccine-for-Honeybees-is-Safe-and-Effective [31 มกราคม 2566]
The oral vaccination with Paenibacillus larvae bacterin can decrease susceptibility to American Foulbrood infection in honey bees—A safety and efficacy study. [ออนไลน์]. 2023, แหล่งที่มา: https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fvets.2022.946237/full [31 มกราคม 2566]
US government approves use of world’s first vaccine for honeybees. [ออนไลน์]. 2023, แหล่งที่มา: https://www.theguardian.com/environment/2023/jan/04/honeybee-vaccine-first-approved [31 มกราคม 2566]
U.S.D.A. Approves First Vaccine for Honeybees. 2023, แหล่งที่มา: https://www.nytimes.com/2023/01/07/science/honeybee-vaccine.html [31 มกราคม 2566]