คุณผู้อ่านครับ แวบแรกที่คุณเห็นปูตัวนี้ (รูปที่ 1) คุณนึกถึงอะไร? ถ้าคุณเห็นลวดลายบนกระดองหลังเป็นใบหน้าคน คุณ ๆ เห็นเหมือนกับคนส่วนใหญ่ แล้วถ้ายิ่งคุณเห็นใบหน้านั้นยิงฟันแยกเขี้ยวดูเกรี้ยวกราดใส่ คุณ ๆ เห็นเหมือนกับชาวอาทิตย์อุทัยเลยละครับ
เปล่าหรอกครับ บทความในวันนี้ ไม่ได้จะมาชวนคุยกันเรื่องของปรากฎการณ์ทางจิตวิทยา Pareidolia แต่เป็นเรื่องของปูชนิดที่เห็นอยู่นี้ต่างหาก ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ปูเฮเกะ (Heikegani) หรือปูซามูไร (Samurai crab) ที่มีเรื่องเล่าขานกันว่าเป็นดวงวิญญาณที่กลายร่างของเหล่านักรบและขุนพลผู้เกริกไกรแห่งตระกูลไทระ (เฮย์เกะ) ที่มาแพ้พ่ายให้แก่ตระกูลมินะโมโตะ (เกนจิ) จนถึงแก่สิ้นวงศ์ตระกูลในยุทธนาวีกลางสมรภูมิที่ช่องแคบชิโมโนะเซกิ ณ ตำบลดันโนะอุระ ในสงครามเก็มเปะ ช่วงปลายยุคเฮอัง (พ.ศ.1337-1728) จึงเกิดมีตำนานเรื่องเล่าของเหล่าดวงวิญญาณที่ไม่สงบสุขเช่นเรื่องปิศาจแห่งดันโนะอุระ เป็นต้น
Carl Sagan เคยอธิบายว่าการที่ปูชนิดนี้ พบแพร่กระจายเฉพาะทะเลในเซโตะและทะเลแถบคิวชูนั้น เป็นผลมาจากการคัดเลือกเทียม ด้วยความที่ชาวประมงพื้นบ้านละแวกนั้นต่างรู้จักปูชนิดนี้จากเรื่องเล่าในตำนานของท้องถิ่นเป็นอย่างดี จึงเลือกที่จะโยนกลับคืนสู่ทะเล จับไปแต่ชนิดที่สามารถนำไปกินได้ นานวันเข้าจึงทำให้ปูชนิดนี้กลายเป็นชนิดเด่นขึ้นมา
แต่ปูหน้าคนนี้ไม่ได้มีแค่ปูเฮเกะ (Heikeopsis japonica) เพียงชนิดเดียวเท่านั้น ยังมีปูซามูไรอีกชนิดหนึ่ง (Dorippe sinica) ที่พบได้ในทะเลญี่ปุ่น รวมถึง Granulated mask crab (Paradorippe granulata) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก (รูปที่ 2) หรือแม้แต่ปูเป้เล็ก (Dorippoides facchino) และปูเป้ใหญ่ (Dorippe quadridens) ที่พบได้ในทะเลบ้านเรา ซึ่งทุกชนิดตามที่ยกตัวอย่างมานี้ (รวมทั้งปูเฮเกะด้วย) ล้วนจัดอยู่ในวงศ์ปูเป้ (Family Dorippidae) ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังพบได้แม้แต่ในปูที่อยู่ต่างวงศ์กัน เช่น Mask carb (Corystes cassivelaunus) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติกอีกด้วย
ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าสันนูนบนผิวกระดองหลังของปูนั้น แท้จริงแล้วทำหน้าที่เป็นจุดช่วยในการยึดเกาะของกล้ามเนื้อที่อยู่ภายใน ซึ่งในบางชนิดเกิดเป็นลวดลายที่ดูละม้ายคล้ายกับใบหน้าคนเช่นในกรณีของปูเป้ชนิดต่าง ๆ นั่นเอง จะต่างกันเพียงแค่ปูเหล่านี้ไม่มีเรื่องมาเล่าขานหรือตำนานมาเล่าเสริมเหมือนอย่างปูเฮเกะเท่านั้น
ผู้เขียน : นายชลวิทย์ ทองเจริญชัยกิจ
ที่มาของภาพ :
[รูปที่ 1] https://www.amusingplanet.com/2017/06/heikegani-crab-with-human-face.html
[รูปที่ 2] นายชลวิทย์ ทองเจริญชัยกิจ
ที่มาของแหล่งข้อมูล
Martin, Joel W. The Samurai Crab. Terra. 31 (4): 30–34 [Online]. 1993,
http://files.meetup.com/974806/Story%20of%20The%20Samurai%20Crab%2C%20HeikeGani%20in%20DanNoUra.pdf
Patowary, Kaushik. Heikegani: The Crab with A Human Face [Online]. 2017,
https://www.amusingplanet.com/2017/06/heikegani-crab-with-human-face.html
ณัฐภัทร โหงวเกิด, ญาณพัฒน์ พรมประสิทธิ์, สหัส ราชเมืองขวาง, และเรืองฤทธิ์ พรหมดำ. ความหลากชนิดของปู
ชายฝั่งทะเลจังหวัดเพชรบุรี [Onine]. 2562, https://www.dmcr.go.th/detailLib/4299
แล็ฟคาดิโอ เฮิร์น. 2531. เรื่องผีผี. แปลโดย ปาริฉัตร เสมอแข และ ผุสดี นาวาวิจิตร. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์ผีเสื้อ.