ภาพจาก : https://www.shutterstock.com/th/image-illustration/swine-virus-g4-flu-infected-livestock-1768289678
จากการศึกษาตั้งแต่เริ่มมีการระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 พบว่า สุกรสามารถติดเชื้อไวรัสได้หากได้รับเชื้อในปริมาณมาก แต่การติดเชื้อนั้นจะหายได้เองและสุกรจะไม่แสดงอาการของโรค รวมถึงไม่แพร่เชื้อไวรัสไปยังสัตว์อื่น ๆ ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยไอโอวาสเตต (Iowa State University) ได้ค้นพบเบาะแสสำคัญที่ให้ความกระจ่างว่า ทำไมสุกรถึงไม่ป่วยเมื่อสัมผัสกับไวรัสโคโรนา ซึ่งการค้นพบนี้อาจนำไปสู่การรักษาโรคโควิด 19 ในมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ราหุล เนลลี (Rahul Nelli) และ รองศาสตราจารย์ ลูอิส จิเมเนซ-ลิโรลา (Luis Gimenez-Lirola) ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตวแพทย์วินิจฉัยและด้านการผลิตยารักษาสัตว์ ได้พยายามค้นหาคำตอบของปริศนาดังกล่าว ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Cell Death Discovery โดยสิ่งที่ค้นพบนี้อาจนำไปสู่หนทางใหม่ในการรักษามนุษย์ที่ติดเชื้อโควิด 19 ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2
เนลลี และ จิเมเนซ-ลิโรลา ศึกษาถึงผลกระทบของไวรัสโคโรนามาเป็นเวลาหลายปี พวกเขาได้พัฒนาแบบจำลองที่ช่วยศึกษารายละเอียดว่าไวรัสแพร่เชื้อในสุกรและเซลล์สุกรได้อย่างไร และเซลล์สุกรตอบสนองต่อการติดเชื้อได้อย่างไร ในการทดลองล่าสุด พวกเขาได้นำไวรัสไปเพาะเลี้ยงในเซลล์เยื่อบุผิวในระบบทางเดินหายใจ (Respiratory epithelial cell) ของสุกรและมนุษย์ และพบว่า เซลล์สุกรมีอัตราการตายแบบ อะพอพโทซิส (Apoptosis) หรือ การควบคุมการตายของเซลล์ เพื่อตอบสนองต่อการติดเชื้อสูงกว่าเซลล์เยื่อบุผิวในระบบทางเดินหายใจของมนุษย์
เนลลี กล่าวเสริมว่า "เมื่อเรามองผ่านกล้องจุลทรรศน์ จะมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นภายในเซลล์ คือ นิวเคลียสของเซลล์สุกรที่ติดเชื้อเริ่มแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่ไม่ใช่ในเซลล์สุกรที่ไม่ติดเชื้อ"
การแตกของนิวเคลียสนั้นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการตายของเซลล์แบบ อะพอพโทซิส ซึ่งอาจเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้สุกรหลบเลี่ยงอาการต่าง ๆ หลังจากได้รับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 การเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์แบบอะพอพโทซิส จะทำให้เกิดความเสียหายของเนื้อเยื่อน้อยที่สุดและจำกัดการจำลองตัวเองเพื่อเพิ่มจำนวนไวรัส ดังนั้น จึงลดความรุนแรงของการติดเชื้อและโรคที่ตามมาได้ เซลล์ของมนุษย์ก็สามารถเกิดอะพอพโทซิสเพื่อตอบสนองต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้เช่นกัน แต่จากการศึกษาพบว่าเซลล์ของมนุษย์มีอัตราการเกิดอะพอพโทซิสน้อยกว่าเซลล์สุกรมาก โดยเซลล์สุกรมีแนวโน้มที่จะเกิดอะพอพโทซิสมากกว่าเซลล์ของมนุษย์ประมาณ 100 เท่า
เซลล์ของมนุษย์มีแนวโน้มที่จะเกิดการตายของเซลล์ในแบบที่เรียกว่า เนโครซิส (Necrosis) ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการตายของเซลล์ที่ควบคุมได้น้อยกว่าการตายของเซลล์แบบอะพอพโทซิส โดยระหว่างที่เซลล์เกิดการตายแบบเนโครซิส ทำให้สารที่อยู่ภายในเซลล์รั่วออกมา และทำให้เกิดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันมากเกินไป ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นในการตายของเซลล์แบบอะพอพโทซิส
นักวิจัยคาดการณ์ว่าการตอบสนองแบบอะพอพโทซิสนั้นจะเป็นประโยชน์ในการป้องกันโรค เนื่องจากสามารถกำจัดเซลล์ที่ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่กระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำปฏิกิริยามากเกินไป ในขณะที่เนโครซิสนั้นก่อให้เกิดการตอบของภูมิคุ้มที่มากเกินไปซึ่งเป็นอันตรายต่อเซลล์เจ้าบ้าน (Host cell)
จิเมเนซ-ลิโรลา กล่าวว่า เราไม่ต้องการด่วนสรุปมากเกินไป แต่การตอบสนองแบบอะพอพโทซิสนี้น่าจะเป็นสิ่งที่มีอยู่ในระบบภูมิคุ้มกันของสุกรที่มีมาแต่กำเนิดและไม่ได้รับมาภายหลัง โดยแนวคิดที่ได้คือการฆ่าเชื้อไวรัสอย่างละเอียดแต่เร็วพอที่จะไม่เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป
นักวิจัย ยังกล่าวอีกว่า การวิจัยเพิ่มเติมอาจนำไปสู่การออกแบบการรักษาที่กระตุ้นให้เกิดการตายของเซลล์แบบอะพอพโทซิสในมนุษย์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา สามารถหลบเลี่ยงจากอาการรุนแรงได้
เรียบเรียงโดย : ชนินทร์ สาริกภูติ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สพว. อพวช.
ที่มาข้อมูล :
The cellular response that protects pigs from COVID-19. [ออนไลน์]. 2022, แหล่งที่มา : https://www.sciencedaily.com/releases/2022/01/220120125443.htm [25 มกราคม 2565]