ผลงานวิจัยเผยการเลี้ยงดูช้างในสภาพควบคุมไม่ได้ส่งผลร้ายต่อสุขภาพของช้างมากเท่าที่ประเมินกันไว้ก่อนหน้า สัดส่วนไขมันและสุขภาพของมันอาจจะดีกว่ามนุษย์อย่างเราๆเสียอีกก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์รวมถึงนักอนุรักษ์ทั่วโลกต่างก็ให้ความสนใจในเรื่องของการเลี้ยงหรือดูแลสัตว์ในสถานที่ที่ไม่ใช่บ้านของมันตามธรรมชาติ หลายท่านต่างกังวลถึงสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจของสัตว์พวกนั้นอันเกิดจากสถานที่ที่จำกัดและไม่คุ้นเคย ไปจนถึงอาหารการกินที่อาจจะไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติของพวกมันมากนัก ความกังวลนี้รวมไปถึงสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างช้างอีกด้วย ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์อเมริกันนำโดย ดร. ดาเนียลลา ชูซิด จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา ได้พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ช้างที่ถูกนำมาเลี้ยงในสถานที่จำกัดคับแคบอย่างในสวนสัตว์ พวกมันมีอาหารการกินที่มากมายโดยไม่ต้องออกไปหาอาหารตามธรรมชาติอย่างช้างป่า แต่เมื่อตรวจสุขภาพช้างเหล่านั้นดูแล้วกลับพบว่าพวกมันไม่ได้มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคอ้วนอย่างมนุษย์ที่บริโภคอาหารมากๆแต่ออกกำลังได้น้อยต้องเผชิญเสมอ
ทีมนักวิทยาศาสตร์ดังกล่าวได้ติดตามพฤติกรรมและตามศึกษาสุขภาพของช้างเอเชียหลายเชือกในสวนสัตว์ผ่านข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์ตรวจวัดกิจกรรมความเคลื่อนไหวและความแข็งแรงของร่างกายที่ติดอยู่กับข้อเท้าของช้าง และพวกเขายังทำการศึกษาปริมาณการสะสมไขมันในร่างกายของช้างพวกนั้นด้วยการให้พวกมันกินขนมปังก้อนที่ผสมน้ำมวลหนัก (Heavy water)ซึ่งเป็นเหมือนการติดฉลากให้กับอาหารเพื่อให้สะดวกต่อการติดตามเส้นทางของอาหารที่มันกินเข้าไป จากนั้นพวกเขาจึงทำการเจาะเลือดมาวิเคราะห์เพื่อให้ทราบถึงปริมาณน้ำที่แท้จริงในร่างกายเพื่อที่จะได้นำไปหาสัดส่วนและปริมาณของไขมันในร่างกายของช้างพวกนั้นได้อย่างถูกต้อง
ผลการศึกษาสร้างความสบายใจให้กับบรรดาผู้อนุรักษ์ช้าง โดยเฉพาะช้างเอเชียซึ่งเป็นกลุ่มช้างที่ได้รับการศึกษาในครั้งนี้ ช้างเอเชียที่เข้าร่วมการศึกษาพบว่ามีสัดส่วนไขมันต่ำกว่าที่คาดการเอาไว้มาก โดยอยู่ที่ 8.5-10% ซึ่งผิดไปจากการคาดการณ์ของเหล่าบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในทีมเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาประเมินว่าช้างพวกนั้นมีพฤติกรรมในการใช้พลังงานต่ำกว่าในธรรมชาติและได้รับอาหารอย่างต่อเนื่อง จึงน่าจะมีสัดส่วนไขมันในร่างกายมากกว่านี้ ซึ่งหากเทียบในกรณีของคนปกติยังมีสัดส่วนไขมันในร่างกายได้มากกว่า คืออยู่ที่ 6-30% ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวก็ชี้ให้เห็นว่า ช้างเอเชียที่ถูกเลี้ยงในพื้นที่จำกัดนั้นไม่ได้มีสุขภาพย่ำแย่อย่างที่คาดการณ์กันไว้ และมันยังมีสุขภาพแข็งแรง มีพฤติกรรมได้ตามปกติอย่างเช่นที่มันหรือเพื่อนพ้องของมันมีได้ตามธรรมชาติอีกด้วย
ผู้เขียน ชนินทร์ สุริยกุล ณ อยุธยา
ศูนย์ข้อมุลข่าวสารวิทยาศาสตร์ อพวช.
ที่มาของแหล่งข้อมูล