สหรัฐอเมริการะงับใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

สหรัฐอเมริการะงับใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

29-04-2022
สหรัฐอเมริการะงับใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

ภาพจาก https://www.everydayhealth.com/coronavirus/the-johnson-johnson-covid-vaccine-what-you-need-to-know/

คณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration หรือ FDA) แห่งสหรัฐอเมริกา และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers of Disease Control and Prevention หรือ CDC) ประกาศระงับการใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 แจนเซ่น (Janssen Vaccine) ของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา หลังพบว่าเกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ที่เป็นอันตรายถึงชีวิต

ขณะนี้มีผู้รับวัคซีนแจนเซ่นในสหรัฐอเมริกามากกว่า 7 ล้านคน โดยมีผู้รับวัคซีนเพศหญิง 6 คน อายุระหว่าง 18-48 ปี เกิดภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติในหลอดเลือดดำที่ออกจากสมอง (Cerebral Venous Sinus Thrombosis) ทำให้มีอาการคล้ายสมองบางส่วนขาดเลือด (Stroke-like) เสียชีวิต 1 คน และอยู่ในภาวะวิกฤติ 1 คน ทั้งนี้ยังมีรายงานการเกิดภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติหลังรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 แจนเซ่นในสหภาพยุโรปอีก 4 คน และมีรายงานความผิดปกติลักษณะเดียวกันในผู้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 AZD1222 ของบริษัทแอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) อีกด้วย

วัคซีนแจนเซ่น และ AZD1222 ผลิตโดยใช้เชื้อโรคอื่นเป็นตัวนำสารพันธุกรรมของไวรัสโควิด 19 เข้าสู่ร่างกายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน (Viral Vector vaccine) จึงได้มีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์นี้ และยังมีการเฝ้าตรวจผลข้างเคียงของวัคซีนสปุตนิกไฟว์ (Sputnik V) ที่พัฒนาโดยสถาบันวิจัยระบาดวิทยาและจุลชีววิทยากามาเลยา (Gamaleya National Research Center of Epidemiology and Microbiology) ประเทศรัสเซีย เนื่องจากใช้กระบวนผลิตเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นว่ายังคงสามารถใช้วัคซีนแจนเซ่น และ AZD1222 ต่อไปได้ เนื่องจากอัตราเกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ในวัคซีนทั้ง 2 ชนิดยังถือว่าค่อนข้างต่ำมาก แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้รับวัคซีน ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคได้แนะนำว่า หลังรับวัคซีนแจนเซ่น และ AZD1222 ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้รับวัคซีนควรสังเกตว่ามีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ และหายใจติดขัดหรือไม่ ถ้าหากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที

สำหรับประเทศไทยได้มีการนำวัคซีน AZD1222 เข้ามาใช้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ต่อมาองค์การอาหารและยาของประเทศไทย ได้อนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนแจนเซ่นเพื่อเป็นอีกทางเลือกสำหรับคนไทยในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดังนั้นระหว่างที่หลาย ๆ คนกำลังตัดสินใจว่าจะรับวัคซีนชนิดไหน ก็ควรทำการศึกษาข้อมูลไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และระวังรักษาสุขภาพ หมั่นล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัย งดไปในสถานที่เสี่ยง ติดตามข่าวสารสถานการณ์เกี่ยวกับโรคโควิด 19 อย่างใกล้ชิด เพื่อผ่านวิกฤติโรคระบาดนี้ไปด้วยกัน

 

เรียบเรียงโดย: ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

แหล่งที่มา:

Johnson & Johnson Vaccinations Paused After Rare Clotting Cases Emerge. [ออนไลน์], 2564, https://www.nytimes.com/2021/04/13/us/politics/johnson-johnson-vaccine-blood-clots-fda-cdc.html [14 เมษายน 2564]
J&J Vaccine and Blood Clots: The Risks, if Any, Are Very Low. [ออนไลน์], 2564, https://www.nytimes.com/2021/04/13/health/blood-clots-johnson-vaccine.html [16 เมษายน 2564]
FDA and CDC Recommend Pausing COVID-19 Vaccination With J&J-Janssen Shot While They Investigate Blood Clot Risks. [ออนไลน์], 2564, https://time.com/5954454/jj-janssen-vaccine-pause-blood-clots/ [16 เมษายน 2564]
Covid-19: EU investigates four reports of blood clots after Janssen vaccine. [ออนไลน์], 2564, https://www.bmj.com/content/373/bmj.n961 [16 เมษายน 2564]
COVID-19 vaccine tracker[ออนไลน์], 2564, https://www.raps.org/news-and-articles/news-articles/2020/3/covid-19-vaccine-tracker [16 เมษายน 2564]