Image: Courtesy: Morphing Matter Lab/Carnegie Mellon University
นักวิจัยพัฒนาเส้นพาสต้าชนิดแบน ที่เมื่อถูกต้มให้ร้อนจะเปลี่ยนเป็นรูปทรงสามมิติ ช่วยลดปริมาณบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนพื้นที่ในการขนส่งหรือจัดเก็บ
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา นำโดย Wen Wang ได้คิดค้นเส้นพาสต้าชนิดแบนแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม
คือ เมื่อถูกต้มให้ร้อนจะพองตัวขึ้นเป็นพาสต้ารูปทรงสามมิติต่าง ๆ เช่น รูปเกลียว (Fusilli) หรือรูปเปลือกหอย (Conchiglie)
ลักษณะพิเศษที่ทำให้เส้นพาสต้าชนิดนี้เปลี่ยนแปลงรูปทรงได้นั้น อยู่ที่การมีร่องขนาดเล็กกว่า 1 มิลลิเมตร เรียงกันบนพื้นผิวของเส้นพาสต้าในรูปแบบที่เฉพาะเจาะจง
ทำให้เกิดพื้นที่ใหญ่เล็กไม่เท่ากัน ซึ่งเมื่อถูกต้มให้ร้อน บริเวณที่ใหญ่กว่าจะดูดซึมน้ำและพองตัวขึ้นได้เร็วกว่าบริเวณอื่น หัวหน้าทีมวิจัย Wang ได้เสริมต่อไปว่า
รูปแบบของร่องบนผิวของเส้นพาสต้า ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความลึก ความสูง หรือระยะห่างระหว่างร่อง ต่างก็มีความสำคัญต่อการออกแบบให้พาสต้ามีการโค้งงอ
เป็นรูปทรงที่ต้องการ โดยกรรมวิธีในการผลิตยังคงเป็นไปตามต้นตำรับเดิมของการทำแป้งพาสต้าแบบอิตาลี ที่มีเพียงแป้งสาลีซีโมลินา (semolina flour) และน้ำ
เป็นส่วนประกอบ เพียงแค่เพิ่มขั้นตอนของการทำร่องบนพื้นผิวเข้าไปเท่านั้น
ผลจากการทดสอบชิมในเบื้องต้นพบว่า เส้นพาสต้าที่พัฒนาขึ้นมาใหม่นี้มีรสชาติและรสสัมผัสไม่แตกต่างไปจากเส้นพาสต้าแบบดั้งเดิม และอาจจะอร่อยกว่าด้วย
กล่าวคือ การทำร่องบนเส้นพาสต้า ส่งผลให้มีพื้นที่ผิวโดยรวมเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้สามารถดูดซับน้ำซอสได้ดียิ่งขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตามการทดสอบชิมเพื่อประเมินความ
พึงพอใจของผู้บริโภค เทียบกับเส้นพาสต้าแบบดั้งเดิม ในระดับที่กว้างขึ้นยังคงต้องดำเนินต่อไป โดยก่อนที่พาสต้าแบบใหม่จะถูกผลิตออกมาจำหน่ายในท้องตลาดได้นั้น
จะต้องจัดเตรียมเครื่องมือเฉพาะต่าง ๆ ให้พร้อม สำหรับรองรับการทำร่องบนพื้นผิวของเส้นพาสต้าที่แม่นยำ และในปริมาณมากระดับอุตสาหกรรม
ทีมนักวิจัยคาดว่า เส้นพาสต้าแบบใหม่ที่สามารถแพ็คให้แบนได้ โดยไม่จำเป็นต้องเสียปริมาตรในกล่องกว่าครึ่งให้กับอากาศ อย่างในกรณีของเส้นพาสต้าแบบหลอด
หรือมักกะโรนี (macaroni) จะช่วยลดปริมาณบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารได้อย่างมาก ทั้งยังลดพื้นที่ในการขนส่งหรือจัดเก็บได้อีกด้วย
ผู้เขียน นาวสาวแก้วนภา โพธิ
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ อพวช.
ที่มาของรูปภาพ
https://www.morphingmatter.cs.cmu.edu/projects/morphing-pasta-and-beyond
ที่มาขอแหล่งข้อมูล
แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม