นักวิจัยจากวิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ด และสถาบันมะเร็ง Dana-Farber จากบอสตัน เปิดเผยข้อมูลการวิจัยมลพิษทางอากาศ (PM 2.5) ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคโควิด 19 มีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น
ปัญหามลภาวะทางอากาศ PM 2.5 สร้างผลกระทบทางสุขภาพต่อผู้ที่สูดดมเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไปทางโพรงจมูกทำให้เกิดปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดมะเร็ง และโรคอื่น ๆ อีกมากมาย
และปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย หากแต่ยังเกิดขึ้นทั่วโลกอีกด้วย นักวิจัยจากทั้ง 2 สถาบันได้ทำการสำรวจและเก็บข้อมูลมากกว่า 3,000 แหล่งในสหรัฐอเมริกา โดยเปรียบเทียบปริมาณความเข้มข้น PM 2.5 ต่อวัน
พบว่าผู้ที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นเวลานาน หากมีฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะส่งผลให้ผู้ที่ป่วยด้วยโรคโควิด 19 มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 11%
นอกจากนี้มลพิษทางอากาศยังกระตุ้นให้ไข้หวัดและโรคปอดอื่น ๆ รุนแรงขึ้น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ PM 2.5 จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรค COVID-19
ถึงแม้ว่าการศึกษาวิจัยนี้จะไม่สามารถระบุเจาะจงได้ว่าใครบ้างที่มีโอกาสเสียชีวิตจากปัญหามลภาวะทางอากาศ แต่การวิจัยดังกล่าวสามารถนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติเพื่อให้เกิดการควบคุมมลภาวะทางอากาศ
ซึ่งส่งผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของโรคแพร่ระบาดอื่น ๆ ต่อไปในอนาคตได้ และเพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชนในประเทศอีกด้วย
ผู้เขียน นายศักดิ์ชัย จวนงาม
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ อพวช.
ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference)
Air pollution can make COVID-19 even deadlier By Knowridge -December 26, 2020 https://go.newsfusion.com//science-news/item/7414598
Air pollution and COVID-19 mortality in the United States: Strengths and limitations of an ecological regression analysis BY X. WU, R. C. NETHERY, M. B. SABATH, D. BRAUN, F. DOMINICI. SCIENCE ADVANCES04 NOV 2020 : EABD4049