ปัจจุบันมียานสำรวจระบบสุริยะถูกส่งไปสู่ห้วงอวกาศมากมายหลายภารกิจ เนื่องจากการสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลกยังไม่เพียงพอต่อการศึกษา และหนึ่งในภารกิจที่น่าสนใจนั้นคือการสำรวจและศึกษาดาวเคราะห์น้อย ซึ่งเป็นวัตถุอวกาศขนาดเล็กในระบบสุริยะ มีวงโคจรส่วนใหญ่อยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี และมีลักษณะทางกายภาพที่หลากหลาย เป็นเศษซากจากการก่อตัวของดาวเคราะห์ในยุคเริ่มแรก การศึกษาดาวเคราะห์น้อยจึงเสมือนเป็นแหล่งศึกษาฟอสซิลของระบบสุริยะ ซึ่งอาจเป็นแหล่งกำเนิดของน้ำและสารประกอบอินทรีย์ในการให้กำเนิดสิ่งมีชีวิต อาจเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญที่มีประโยชน์กับมนุษยชาติในอนาคต รวมถึงการป้องกันภัยจากดาวเคราะห์น้อยที่อาจก่อความเสียหายแก่โลกในอนาคต
ล่าสุดในวันจันทร์ที่ 24 เมษายน 2566 สำนักข่าวซินหัว (Xinhua) รายงานว่า จาง หรงเฉียว (Zhang Rongqiao) หัวหน้าผู้ออกแบบโครงการสำรวจดาวเคราะห์และภารกิจเทียนเวิ่น 2 ของประเทศจีน กล่าวว่า จีนมีแผนดำเนินภารกิจเทียนเวิ่น-2 (Tianwen-2) ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2568 เพื่อเก็บตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกและสำรวจดาวหาง
จาง หรงเฉียว ได้แถลงข่าวเนื่องในวันอวกาศจีน ซึ่งตรงกับวันที่ 24 เมษายน 2566 ว่าวัตถุประสงค์หลักของภารกิจเทียนเวิ่น-2 คือ การส่งยานสำรวจไปยังดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกรหัส "2016เอชโอ3" (2016HO3) เพื่อเก็บตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยดังกล่าว ซึ่งมีขนาดไม่เกิน 100 เมตร (300 ฟุต) ถูกพบครั้งแรกโดยกล้องโทรทรรศน์สำรวจดาวเคราะห์น้อยที่ชื่อ กล้องแพนสตาร์ส 1 (Pan-STARRS 1) บนเกาะฮาวายในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2559
จาง หรงเฉียว ระบุว่าภารกิจเทียนเวิ่น-2 จะเป็นการเก็บตัวอย่างจากห้วงอวกาศระหว่างดวงดาวชุดแรกของจีน หากประสบความสำเร็จ และจะมีการส่งยานอวกาศไปโคจรรอบๆ และลงจอดเพื่อเก็บตัวอย่างบนดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ โดยมีการคาดการณ์ว่ายานอวกาศในภารกิจดังกล่าวจะเดินทางไปสำรวจดาวหางในแถบดาวเคราะห์น้อยหลักระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีต่อไป หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจหลัก
การศึกษาดาวเคราะห์น้อย จะนำมาซึ่งข้อมูลที่ช่วยพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ การศึกษาเคราะห์น้อยอย่างใกล้ชิด ก็เป็นอีกหนึ่งในความท้าทายสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ของระบบสุริยะ การป้องกันโลกของเราจากอันตรายจากวัตถุในห้วงอวกาศ รวมถึงการค้นหาวัตถุที่อาจมีบทบาทกับมนุษย์ในอนาคตได้
เรียบเรียงโดย : ชนินทร์ สาริกภูติ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
ที่มาข้อมูล
XINHUA, China to launch Tianwen-2 mission to explore asteroid. [ออนไลน์]. 2023, แหล่งที่มา: https://english.news.cn/20230424/f3c751a1d6c54638b3f340ab751521b6/c.html
[25 เมษายน 2566]
REUTERS, China plans to send probe to near-Earth asteroid around 2025. [ออนไลน์]. 2023, แหล่งที่มา: https://www.reuters.com/lifestyle/science/china-plans-send-probe-near-earth-asteroid-around-2025-2023-04-24/ [25 เมษายน 2566]
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ, 4 ภารกิจสำรวจดาวเคราะห์น้อยของ NASA ที่น่าติดตาม. [ออนไลน์]. 2023, แหล่งที่มา: https://psub.psu.ac.th/?p=8908 [25 เมษายน 2566]