นักวิทยาศาสตร์จับสัญญาณวิทยุที่ส่งมาจากกาแลคซีที่อยู่ห่างจากโลกเกือบ 9,000 ล้านปีแสง

นักวิทยาศาสตร์จับสัญญาณวิทยุที่ส่งมาจากกาแลคซีที่อยู่ห่างจากโลกเกือบ 9,000 ล้านปีแสง

28-02-2023
https://www.shutterstock.com/th/image-photo/radio-telescopes-dishes-national-astronomy-observatory-1725787603

ราชสมาคมดาราศาสตร์ (Royal Astronomical Society) ได้ประกาศผลงานทีมนักวิจัยจากแคนาดาและอินเดีย สามารถจับสัญญาณคลื่นวิทยุได้จากกาแล็กซีที่มีชื่อว่า SDSSJ0826+5630 โดยอาศัยกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ของประเทศอินเดีย โดยคลื่นวิทยุที่ทีมนักวิจัยรับได้ในครั้งนี้ อาจมีส่วนช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถย้อนกลับไปศึกษาเพื่อทำความเข้าใจการก่อกำเนิดของจักรวาลได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งได้รับการประเมินแล้วว่าน่าจะมีอายุประมาณ 13,700 ล้านปี

อาร์นับ จักราบรตี (Arnab Chakraborty) นักจักรวาลวิทยา และผู้ร่วมเขียนรายงานกรณีศึกษาเกี่ยวกับการตรวจจับสัญญาณวิทยุดังกล่าว ได้กล่าวว่า “หากเปรียบเทียบแล้ว ก็เหมือนกับเราได้ย้อนกลับไปยังช่วงเวลา 8,800 ล้านปี ก่อนหน้านี้ สัญญาณวิทยุดังกล่าวไม่ได้ส่งมาโดยมนุษย์ต่างดาวจากนอกโลก แต่มาจากกาแล็กซีที่กำลังให้กำเนิดดาวฤกษ์ ส่งคลื่นพลังงานออกมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่จักรวาลมีอายุเพียง 4,900 ล้านปี และนี่เป็นการตรวจจับสัญญาณวิทยุประเภทนี้ได้ครั้งแรกจากระยะทางที่อยู่ไกลมาก

จักราบรตี กล่าวว่า “ปกติแล้วกาแล็กซีหนึ่งจะปล่อยสัญญาณวิทยุที่แตกต่างกันออกไปหลายประเภท ปัจจุบันนี้ เราสามารถรับสัญญาณประเภทเดียวกับที่ตรวจจับได้ในครั้งนี้จากกาแล็กซีที่อยู่ใกล้ ๆ เท่านั้น ซึ่งทำให้เราสามารถทำความเข้าใจได้เฉพาะกาแล็กซีที่อยู่ใกล้โลก”

การตรวจจับคลื่นสัญญาณที่ค้นพบนี้มีความสำคัญ เพราะความถี่ของคลื่นนั้นเป็นความถี่เฉพาะที่เรียกว่า 21cm line ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า เส้นสเปกตรัมของไฮโดรเจน (Hydrogen line) และเป็นเส้นสเปกตรัมรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic radiation spectral line) ที่มีความถี่ 1420 โดยไฮโดรเจนที่กระจายไปทั่วอวกาศนี้ยังสามารถใช้ในการทำแผนที่กาแลคซีได้อีกด้วย

การตรวจจับคลื่นสัญญาณที่ค้นพบนี้มีความสำคัญ เพราะความถี่ของคลื่นนั้นเป็นความถี่เฉพาะที่เรียกว่า 21cm line ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า เส้นสเปกตรัมของไฮโดรเจน (Hydrogen line) และเป็นเส้นสเปกตรัมรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic radiation spectral line) ที่มีความถี่ 1420 โดยไฮโดรเจนที่กระจายไปทั่วอวกาศนี้ยังสามารถใช้ในการทำแผนที่กาแลคซีได้อีกด้วย

กล้องโทรทรรศน์ขนาดยักษ์ในอินเดียสามารถรับสัญญาณอันเบาบางนี้ได้ เนื่องจากปรากฏการณ์เลนส์โน้มถ่วง (Gravitational Lensing) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ขยายสัญญาณที่มาจากวัตถุที่ห่างไกลเพื่อช่วยให้เราทำความเข้าใจในเอกภพในยุคแรกเริ่ม

กาแลคซีอื่น ๆ ได้เบี่ยงเบนสัญญาณวิทยุที่ปล่อยออกมาจาก SDSSJ0826+5630 ซึ่งขยายคลื่นและทำให้กล้องโทรทรรศน์ในประเทศอินเดียสามารถจับสัญญาณได้ โดยทีมนักวิจัยได้อาศัยคลื่นสัญญาณที่ตรวจจับได้ในครั้งนี้ มาคำนวณหามวลอะตอมของกาแล็กซี ซึ่งพบว่ากาแล็กซีดังกล่าวมีมวลใหญ่กว่ามวลของกลุ่มดาวฤกษ์ที่เราสามารถมองเห็นจากบนโลกได้ถึง 2 เท่า

 

เรียบเรียงโดย : ชนินทร์ สาริกภูติ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

ที่มาข้อมูล :

Radio signal sent from galaxy nearly nine billion light years away is received by scientist on earth. [ออนไลน์]. 2023, แหล่งที่มา: https://www.dailymail.co.uk/sciencetech/article-11661173/Radio-signal-sent-galaxy-nearly-nine-billion-light-years-away-received-scientist-earth.html [24 มกราคม 2566]