Primeval Foods บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการผลิตอาหารในประเทศอังกฤษ เตรียมมอบประสบการณ์ใหม่ในการรับประทานอาหารเมนูเนื้อ โดยประกาศแผนการวางจำหน่ายเนื้อสิงโต เสือ และม้าลายที่ผลิตในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เป้าหมายแรกคือการจำหน่ายให้กับร้านอาหารที่ได้รับการจัดระดับโดยมิชลินสตาร์ (Michelin Star) ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แล้วจึงค่อยขยายวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปเพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสลิ้มลอง
หลายปีที่ผ่านมา บริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งทั่วโลก ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ผลิตในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ จากการนำเซลล์ (Cell) ของสิ่งมีชีวิตมาเพาะเลี้ยงจนกลายเป็นเนื้อเยื่อ (Lab-grown meat หรือ Cultured meat) ทั้งเนื้อสุกร เนื้อโค และเนื้อไก่ แต่การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในครั้งนี้กลับแตกต่างออกไปเนื่องจากผลิตภัณฑ์เนื้อสิงโต เสือ และม้าลายนั้นไม่ใช่เนื้อสัตว์ทั่วไปที่คนนำมาบริโภค การพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อที่มีความแปลกใหม่จะช่วยดึงดูดให้คนหันมาสนใจผลิตภัณฑ์เนื้อจากการเพาะเลี้ยงเซลล์มากขึ้น
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าฟาร์มปศุสัตว์ปกติทั่วไปมีการปล่อยก๊าซมีเทน (Methane หรือ CH4) หนึ่งในก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน นักวิทยาศาสตร์จึงได้พยายามที่จะพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้คนสามารถบริโภคเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มาจากฟาร์มได้โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยลดการฆ่าสัตว์อีกด้วย จากงานวิจัยที่เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าการผลิตเนื้อด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อลดการใช้พลังงานลง 7-45% ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง 78-96% ใช้น้ำลดลงมากถึง 82-96% และใช้พื้นที่น้อยลง 99% เมื่อเทียบกับการทำฟาร์มปศุสัตว์ ทั้งยังช่วยลดของเสียที่มาจากการชำแหละอีกด้วย
นอกจากเนื้อสิงโต เสือ และม้าลายแล้ว ทีมผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ยังมีแผนจะพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อของสัตว์อื่น ๆ เช่น ช้าง เสือดาว เพื่อให้ผู้คนได้ลิ้มลองรสชาติใหม่ ๆ แม้จะมีการตั้งคำถามมากมายทั้งเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ และความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์ แต่ทางผู้พัฒนาก็ยังมั่นใจว่านี่คืออีกย่างก้าวที่สำคัญของการพัฒนาอาหารในโลกอนาคตที่ปราศจากการฆ่า และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เรียบเรียงโดย: ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
แหล่งข้อมูล:
World’s first lab-grown lion meat as climate-friendly ‘cultivated’ food arrives in UK. [ออนไลน์]. 2022, แหล่งที่มา: https://www.independent.co.uk/climate-change/lion-meat-lab-grown-world-first-b2047237.html [10 เมษายน 2565]
Will lab-grown lion meat stop the slaughter of farm animals? [ออนไลน์]. 2022, แหล่งที่มา: https://medium.com/green-green-green/will-lab-grown-lion-meat-stop-the-slaughter-of-farm-animals-d416e5527811 [10 เมษายน 2565]
Lab-Grown Lion Meat Could Be Set for Tables At UK Restaurants. [ออนไลน์]. 2022, แหล่งที่มา: https://www.ladbible.com/news/labgrown-lion-meat-could-be-set-for-tables-at-uk-restaurants-20220330 [10 เมษายน 2565]
Environmental Impacts of Cultured Meat Production. [ออนไลน์]. 2011, แหล่งที่มา:https://pubs.acs.org/doi/10.1021/es200130u [10 เมษายน 2565]
ข้อมูลเพิ่มเติม: