ภาพ คุณโรแบร์ต บูแกรง ดูบูร์ก (Robert Bougrain-Dubourg) ผู้อำนวยการหลักสูตรการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรม กำลังตรวจสอบ "รูปพระตาย" (https://readthecloud.co/jesus-wood-sculpture/)
โรแบร์ต บูแกรง ดูบูร์ก (Robert Bougrain-Dubourg) ผู้อำนวยการหลักสูตรการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรม ประเทศฝรั่งเศส และเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรอนุรักษ์ไร้พรมแดน ได้เสนอให้มีการนำเครื่องเอ็กซเรย์และเครื่องซีทีสแกนมาใช้ในการวิเคราะห์ “รูปพระตาย” ซึ่งเป็นรูปสลักพระเยชูซึ่งอยู่คู่กับวัดกาลหว่าร์ หรือวัดพระแม่ลูกประคำ กรุงเทพมหานคร กว่า 234 ปี โดยได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลเซ็นต์หลุยส์ โดยเรื่องราวต่าง ๆ ได้เปิดเผยในเว็บไซต์ของ The cloud โดยอภิชาติ กิตติเมธาวีนันท์
ผลการวิเคราะห์ภาพเอ็กซเรย์ และซีทีสแกนไม่เพียงช่วยหาจุดที่ต้องบูรณะซ่อมแซม แต่ยังช่วยอธิบายวัสดุ โครงสร้าง และประวัติความมาของรูปพระตายอีกด้วย โดยพบว่ารูปพระตายนั้นเป็นรูปสลักไม้ท่อนเดียวยึดด้วยตะปูทำมือโบราณ บริเวณหัวไหล่เป็นข้อต่อไม้ หุ้มด้วยหนังสัตว์ และเย็บด้วยเชือก สามารถขยับกางแขนได้ เป็นศิลปะที่พบมากในศตวรรษที่ 17 บริเวณคาบสมุทรไอบีเรีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศสเปนและโปรตุเกส เรียกว่า “Cristo Yacente” หรือ “Dead Christ” เพื่อใช้ในพิธีวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (Good Friday) อันเป็นวันสำคัญตามปฏิทินจันทรคติแบบชาวคริสต์ในประเทศสเปน โปรตุเกส และประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของทั้งสองประเทศ
สำหรับประเทศไทย ชาวสเปนและโปรตุเกสได้เข้ามาเชื่อมสัมพันธ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาในช่วงเวลาเดียวกัน ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับบันทึกประวัติของวัดกาลหว่าร์ของมิชชั่นนารีชาวฝรั่งเศส ซึ่งอธิบายว่ารูปพระตาย และรูปแม่พระลูกประคำเป็นสมบัติของผู้ลี้ภัยชาวคริสต์ ถูกนำมาไว้ในเขตบางกอก (ชื่อกรุงเทพในสมัยนั้น) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1787 โดยชื่อวัดกาลหว่าร์มาจากภาษาละติน Calvariæ ที่แปลว่า หัวกระโหลก แต่ออกเสียงเพี้ยนจนกลายเป็นชื่อ กาลหว่าร์ ในปัจจุบัน
จากการค้นพบดังกล่าว ร่วมกับการขูดสีเพื่อวิเคราะห์ลักษณะสีที่ใช้ ทำให้การบูรณะรูปพระตายเริ่มขึ้นอย่างราบรื่นตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2558 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2561 และในปีนี้วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์จะตรงกับวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นเพียงคืนเดียวในปีนี้ที่จะได้มีโอกาสร่วมสักการะรูปพระตายวัดกาลหว่าร์ และสัมผัสประเพณีอันงดงามของชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทย
เรียบเรียงโดย ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
แหล่งที่มา
ครุ่นคริสต์ Holy Rosary Church.[ออนไลน์]. 2562, แหล่งที่มา: https://readthecloud.co/jesus-wood-sculpture/[10 มีนาคม 2564]
Iberian Peninsular. [ออนไลน์], แหล่งที่มา: https://www.britannica.com/place/Iberian-Peninsula [10 มีนาคม 2564]