ศาสตราจารย์เฮเลน เมง (Professor Helen Meng) อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมระบบและการจัดการวิศวกรรมแห่ง Chinese University of Hong Kong เปิดเผยถึงผลงานชิ้นใหม่ซึ่งเกิดขึ้นจากปัญหาภาวะสมองเสื่อมซึ่งชาวฮ่องกงจำนวนมากกำลังเผชิญอยู่ เนื่องจากเขตปกครองพิเศษฮ่องกงใช้ระบบการประกันสุขภาพเบื้องต้นเป็นสวัสดิการของรัฐ ทำให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถหาตัวเลือกอื่นจำเป็นต้องรอคิวเป็นเวลานานกว่าจะได้รับการตรวจวิเคราะห์และดูแลรักษา ซึ่งไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของภาวะสมองเสื่อมที่อาจเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด การพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหานี้จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น
ผลงานที่ศาสตราจารย์เมงและทีมงานได้ค้นคว้าและพัฒนาขึ้น มุ่งเน้นไปที่การใช้ Machine Learning ปัญญาประดิษฐ์ และ Big Data ในการช่วยทดสอบผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เทคโนโลยีการรู้จำเสียงพูด (Spoken-language Technology) เพื่อวิเคราะห์ความสามารถในการสั่งการของสมอง โดยอ้างอิงจากวิธีการทดสอบภาวะสมองเสื่อมที่เรียกว่า Montreal Cognitive Assessment ซึ่งเป็นการถามคำถามสั้นๆ กับผู้ทดสอบ และพิจารณาผลการทดสอบจากความรวดเร็ว และความถูกต้องในการตอบคำถาม ซึ่งถือเป็นงานที่อยู่ในขอบเขตความสามารถของระบบปัญญาประดิษฐ์
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์เมงไม่ได้คาดหวังให้ระบบที่พัฒนาขึ้นเข้ามาทำงานแทนที่ผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์ในทางกลับทาง ระบบที่ช่วยทดสอบผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงนี้จะเป็นเหมือนการคัดกรองด่านแรก เพื่อค้นหาผู้ที่ควรได้รับการตรวจรักษาเป็นการเร่งด่วน รวมถึงเก็บข้อมูลที่จำเป็นเพื่อส่งต่อให้แพทย์ใช้ทำการรักษาต่อไป ทั้งนี้โครงการที่จะสร้างระบบดังกล่าวกำลังอยู่ในช่วงของการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงยังคงต้องรอติดตามความก้าวหน้าต่อไปในอนาคต
ที่มารุปภาพ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
[1] Spoken Language Technology Takes on Dementia. (n.d.). Retrieved from https://spectrum.ieee.org/the-institute/ieee-member-news/spoken-language-technology-takes-on-dementia