กระทรวงดีอีร่วมกับ Google เปิดตัวฟีเจอร์ Play Protect อัปเดตใหม่ล่าสุด บล็อกการติดตั้งแอปฯ สุ่มเสี่ยงอัตโนมัติแบบเรียลไทม์ หวังป้องกันภัยจากการหลอกลวงและกลโกงออนไลน์ให้กับผู้ใช้แอนดรอยด์ในประเทศไทย
วันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ประกาศความร่วมมือกับ Google ประเทศไทย เปิดให้บริการฟีเจอร์ “Play Protect” เวอร์ชันพัฒนาล่าสุด ช่วยป้องกันการติดตั้งแอปพลิเคชันเสี่ยงอันตรายซึ่งดาวน์โหลดมาจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักแบบเรียลไทม์ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ในไทยที่นับเป็นประเทศที่สองของโลกต่อจากสิงคโปร์ ร่วมกับฟังก์ชันการรักษาความปลอดภัยอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว อย่างการป้องกันสแปมใน Google Messages หรือการเตือนเว็บไซต์อันตราย (Google Safe Browsing) ใน Chrome
ผู้ใช้แอนดรอย์สามารถเปิดใช้งาน Play Protect ได้ด้วยการตั้งค่าใน Google Play ซึ่งเป็นการยอมให้ระบบรักษาความปลอดภัยทำการสแกนแอปฯ บนมือถืออัตโนมัติเป็นประจำทุกวัน ทำงานร่วมกับระบบคลาวด์ โดยอาศัยเทคโนโลยี Machine learning ทำให้สามารถเรียนรู้ อัปเดตข้อมูล และปรับปรุงฟังก์ชันการทำงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อตรวจพบแอปฯ ที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ใช้งาน ข้อมูลของผู้ใช้งาน หรืออุปกรณ์ที่ใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง ระบบอาจแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ลบแอปฯ นั้นออกไป ระงับการทำงานของแอปฯ จนกว่าจะถอนการติดตั้ง หรือบางกรณีอาจลบแอปฯ ดังกล่าวอัตโนมัติ โดยจะเชื่อมต่อไปยังเซิร์ฟเวอร์เมื่อมีการตรวจพบแอปฯ สุ่มเสี่ยงเท่านั้นเพื่อประหยัดการใช้อินเทอร์เน็ต ในแต่ละวัน Google Play Protect ตรวจสอบกว่า 125 พันล้านแอปฯ จึงสามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามที่พบได้อย่างรวดเร็ว ลดระยะเวลาที่ผู้ใช้ประสบภัยคุกคาม และจำนวนอุปกรณ์ที่อาจได้รับผลกระทบ
ที่ผ่านมาพบว่าในประเทศไทยมีจำนวนการหลอกลวงผ่านทางมือถือด้วยกลโกงต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น และถึงแม้ผู้คนจะตระหนักถึงความเสี่ยงบนโลกออนไลน์มากขึ้น แต่ 7 ใน 10 ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่คิดว่าตนเองสามารถรู้เท่าทันและหลีกเลี่ยงกลโกงได้ ยังคงตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางออนไลน์ สูญเสียทรัพย์สินและข้อมูลที่สำคัญให้กับมิจฉาชีพอยู่ดี ความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้ ทั้งในการพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัย การเผยแพร่ความรู้และแนะนำเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ในการรับมือกับการหลอกลวงทางออนไลน์ประเภทต่าง ๆ จึงอาจช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันภัยทางไซเบอร์ให้คนไทย และขับเคลื่อนสังคมไทยสู่อนาคตดิจิทัลที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น
แหล่งที่มาของข่าว
https://www.tnnthailand.com/news/sci/164043/
https://www.infoquest.co.th/2024/389077
https://support.google.com/googleplay/answer/2812853?hl=en
ผู้เรียบเรียง
แก้วนภา โพธิ
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ