เราอาจจะเคยได้ยินว่าว่าดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออก (ประมาณ 6 โมงเช้า) ลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก (ประมาณ 6 โมงเย็น) และเมื่อถึงเวลาเที่ยงวันดวงอาทิตย์จะอยู่ตรงหัวเราพอดี แต่แท้จริงแล้วจะมีเพียงแค่ 2 วันเท่านั้นที่ดวงอาทิตย์จะตรงหัวเราพอดี นั่นคือช่วงเดือนเมษายนและเดือนสิงหาคมของไทย โดยวันที่แน่นอนจะขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งนั้น ๆ ว่าอยู่บนเส้นละติจูด (เส้นนอน) ที่เท่าไร
โดยปกติแล้วโลกจะเอียงทำมุม 23.5 องศาในแนวดิ่งและโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี จึงทำให้มุมการกระจายของแสงในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากันใน 1 ปี โดยทำให้เกิดวันที่สำคัญต่างๆ เช่น
วันครีษมายันเป็นวันที่กลางวันยาวกว่ากลางคืนที่สุด (21 มิถุนายน) จะเป็นวันที่เส้น 23.5 องศาเหนือ หรือ Tropic of cancer ตั้งฉากกับดวงอาทิตย์
ต่อมาอีก 3 เดือนถึงวันวิษุวัต (22 กันยายน) เป็นวันที่เส้นศูนย์สูตรตั้งฉากกับดวงอาทิตย์พอดี
เมื่อผ่านไปอีก 3 เดือนถึงวันเหมายัน (21 ธันวาคม) จะเป็นวันที่เส้น 23.5 องศาใต้ หรือ Tropic of Capricorn ทำมุมตั้งฉากกับดวงอาทิตย์
โดยหากมุมของดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นที่ใด ก็จะเกิดวันที่ดวงอาทิตย์ตรงหัวหรือวันไร้เงาได้
ประเทศไทยอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรเล็กน้อย ดวงอาทิตย์จึงเฉไปทางทิศเหนือในช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม และจะเริ่มเฉไปทางทิศใต้ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงมีนาคม
เมื่อต้นเดือนทางเพจ Facebook พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ได้เคยแจ้งไปว่าภาคใต้จะเริ่มไร้เงา และจะไล่ลำดับขึ้นเหนือมาเรื่อยๆ คราวนี้ 27 เมษายน ถึงคิวชาวกรุงเทพและปริมณฑลแล้ว ดังนั้นหากมาเที่ยว #พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ก็อย่าลืมส่องดูเงาของตัวเองด้วยว่าเป็นแบบนั้นจริงๆหรือเปล่า
เรื่อง/ภาพ: Nat เล็ก อรทัย
สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา