องค์การอนามัยโลกจับตามองไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์มิว

องค์การอนามัยโลกจับตามองไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์มิว

30-04-2022
องค์การอนามัยโลกจับตามองไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์มิว

https://www.wfla.com/community/health/coronavirus/whats-the-mu-variant-and-will-we-keep-seeing-more-covid-19-variants/

ต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ได้ประกาศเตือนหน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลกเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์ สายพันธุ์มิว ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในระดับจับตามอง (Variants of Interest หรือ VOI) ที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลกควรให้ความสนใจเช่นเดียวกับสายพันธุ์อีตา (Eta), ไอโอตา (Iota), แคปปา (Kappa) และแลมป์ดา (Lambda)

ไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์มิว (Mu) หรือ B.1.621 พบครั้งแรกในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ในประเทศโคลอมเบีย (Colombia) โดยในเวลานั้นพบว่ามีผู้ป่วยโรคโควิดในประเทศโคลอมเบียเพียง 0.1% จากการติดเชื้อสายพันธุ์มิว แต่ในเวลาไม่ถึงปีกลับพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวมากถึง 39% และยังพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นใน 43 ประเทศทั่วโลกอีกด้วย

จากการศึกษาเบื้องต้น พบว่าไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์มิว มีการกลายพันธุ์ที่โปรตีนส่วนหนาม (Spike protein) ถึง 8 ลักษณะ และเป็นลักษณะเดียวกับที่พบในไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์ซึ่งถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในระดับน่าวิตกกังวล (Variants of Concern หรือ VOC) เช่น ลักษณะการกลายพันธุ์ E484K และ N501Y ที่ทำให้เชื้อไวรัสสามารถหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นโดยวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ซึ่งพบในสายพันธุ์แกมมา (Gamma) ลักษณะการกลายพันธุ์ P681H ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่เชื้อได้รวดเร็ว ซึ่งพบในสายพันธุ์อัลฟา (Alpha) เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าลักษณะการกลายพันธุ์แบบใหม่ที่ยังไม่เคยพบในสายพันธุ์อื่น ๆ อีกหลายตำแหน่งที่อาจมีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาโดยใช้แบบจำลองการระบาดวิทยาเพื่อคาดการณ์ความรุนแรงการระบาดพบว่าไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์มิวสามารถแพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม และนักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาผลกระทบของสายพันธุ์ที่มีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ชนิด mRNA เพื่อนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนาวัคซีนให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

แม้จะยังไม่พบผู้เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์มิวในประเทศไทย แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในปัจจุบัน ทุกคนจึงควรติดตามข่าวสารสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 สวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี หลีกเลี่ยงการไปสถานที่เสี่ยง รักษาระยะห่าง ดูแลสุขภาพร่างกาย และจิตใจ เพื่อผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

 

เรียบเรียงโดย: ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช

แหล่งที่มาข้อมูล:
Tracking SARS-CoV-2 variants. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://www.who.int/en/activities/tracking-SARS-CoV-2-variants/ [21 กันยายน 2564]
What do we know about Mu, the new COVID variant monitored by WHO? [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://www.euronews.com/2021/09/02/what-do-we-know-about-mu-the-new-covid-variant-monitored-by-who [22 กันยายน 2564]
WHO Tracking New COVID-19 Variant Called Mu. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา:https://www.webmd.com/lung/news/20210902/who-tracking-new-covid-variant-called-mu [21 กันยายน 2564]
The Mu variant is on the rise. Scientists weigh in on how much to worry. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://www.nationalgeographic.com/science/article/the-mu-variant-is-on-the-rise-scientists-weigh-in-on-how-much-to-worry [21 กันยายน 2564]
SARS-CoV-2 Variant Classifications and Definitions. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา:https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/variants/variant-info.html [21 กันยายน 2564]

ข่าวสารที่่คล้ายกัน