หลายปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์เฝ้าจับตามองธารน้ำแข็งบนที่ราบสูงทิเบต (Tibetan Plateau) ซึ่งมีขนาดใหญ่รองลงมาจากขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ จนได้สมญาว่า “ขั้วโลกที่สาม” (Third pole) และกำลังได้รับผลการกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างรุนแรง จนอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร และอาจก่อให้เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสายสำคัญของทวีปเอเชีย ได้แก่ แม่น้าแยงซีเกียง แม่น้ำโขง และแม่น้ำคงคา
ปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 นักวิทยาศาสตร์ในประประเทศจีนได้เผยแพร่งานวิจัยในวารสารวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Nature) เกี่ยวกับการศึกษาจุลินทรีย์ที่ได้จากการสุ่มเก็บตัวอย่างหิมะ น้ำแข็ง และฝุ่นผงในธารน้ำแข็งบนที่ราบสูงทิเบตจำนวน 21 จุด ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัย (Himalaya) ไปจนถึงพื้นที่ตอนเหนือของทะเลทรายทากลามากัน (Taklamakan Desert) ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (Xinjiang Uygur Autonomous Region) ประเทศจีน โดยนำมาวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรม หรือจีโนม (Genome) ของจุลินทรีย์ที่พบ แล้วสร้างฐานข้อมูลที่ชื่อว่า Tibetan Glacier Genome and Gene หรือ TG2G นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างฐานข้อมูลทางพันธุกรรมของจุลินทรีย์ในธารน้ำแข็งบนที่ราบสูงทิเบต
จากการศึกษาข้างต้นพบว่า มีจุลินทรีย์มากถึง 968 ชนิด ซ่อนตัวอยู่ในธารน้ำแข็งขนาดใหญ่อายุ 15,000 ปี บนที่ราบสูงทิเบต โดย 82% ของจุลินทรีย์ที่ถูกค้นพบเป็นชนิดที่ไม่เคยรู้จัก และไม่ได้รับการบันทึกไว้เลย ก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2563 ยังเคยมีทีมวิจัยเจาะเอาแกนน้ำแข็งของธารน้ำแข็งเดียวกันนี้มาศึกษาเกี่ยวกับเชื้อไวรัสที่อยู่ในชั้นน้ำแข็ง แล้วพบว่ามีไวรัส 28 ใน 33 ชนิด ที่พบในแกนน้ำแข็งที่ถูกเจาะขึ้นมา เป็นชนิดที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนเช่นกัน
แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับการค้นพบจุลินทรีย์ในสภาพแวดล้อมสุดทรหด แต่นักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่ง ได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์ภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยในแต่ละปีสูงขึ้น ทำให้ธารน้ำแข็งละลาย จุลินทรีย์ต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในธารน้ำแข็ง ทั้งไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และสาหร่ายมากมายที่อาจจะก่อให้เกิดโรคระบาดในพื้นที่ต่าง ๆ ที่รองรับน้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็งบนที่ราบสูงทิเบต สร้างความเสียหายต่อระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมเช่นเดียวกับโรคโควิด 19 ที่ยังคงระบาดอยู่จนถึงตอนนี้