นักวิจัยค้นพบมดถ้ำชนิดใหม่ของโลก

นักวิจัยค้นพบมดถ้ำชนิดใหม่ของโลก

29-04-2022
นักวิจัยค้นพบมดถ้ำชนิดใหม่ของโลก

นักมดวิทยาจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญนบุรี และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขานครินทร์ ค้นพบมดชนิดใหม่ของโลกที่อาศัยอยู่ในถ้ำชนิดแรกของประเทศไทย ถือเป็นปฐมบทของการศึกษาวิจัยมดในถ้ำหลังจากที่มีรายงานมดชนิดแรกจากประเทศไทยราว 129 ปีที่ผ่านมา

มดถ้ำชนิดใหม่ของโลกถูกค้นพบในถ้ำบริเวณป่าชุมชนเขาหินปูน บ้านสหกรณ์นิคม อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดย ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ดร.ปิยะพร พิทักษ์ตันสกุล มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี และ ผศ.ดร.โสภาค จันทฤทธิ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ถูกรายงานและตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร Far Eastern Entomologist ฉบับที่ 424 หน้า 7-20 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 (ค.ศ. 2021) โดยตั้งชื่อว่า “Carebara panhai” ตามชื่อสกุลของ ศ.ดร.สมสักดิ์ ปัญหา ผู้อำนวยการผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และมีชื่อไทยว่า “มดง่ามถ้ำอาจารย์สมศักดิ์” ตัวอย่างมดตัวแรกของมดชนิดใหม่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

มดง่ามถ้ำอาจารย์สมศักดิ์เป็นมดขนาดเล็ก มดงานมีรูปร่างสองแบบ (dimorphic type) ประกอบด้วยมดงานขนาดใหญ่ (หัวโต) ยาวประมาณ 3.6-3.8 มิลลิเมตร และมดงานขนาดเล็ก (หัวเล็ก) ยาวประมาณ 2.15-2.18 มิลลิเมตร มดงานขนาดใหญ่มีหัวใหญ่กว่าในมดงานขนาดเล็กมาก มีร่องลึกเรียงขนานกันตามความยาวและความกว้าง ลักษณะที่แตกต่างจากมดชนิดอื่น ๆ ที่เป็นญาติใกล้ชิดกันคือมดง่ามถ้ำอาจารย์สมศักดิ์มีขนแข็งขึ้นปกคลุมทางด้านบนของหัว เอว และบนท้องปล้องแรก (ขณะที่มดที่เป็นญาติใกล้ชิดไม่มีขนปกคลุมบริเวณดังกล่าว)

ดร.วียะวัฒน์ ผู้ค้นพบมดชนิดใหม่ กล่าวว่า ทีมงานวิจัยค้นพบมดง่ามถ้ำอาจารย์สมศักดิ์ หรือมดถ้ำชนิดใหม่นี้ในถ้ำขนาดเล็กในป่าดิบแล้งที่ห่างไกลจากชุมชน และยังเป็นถ้ำที่ยังไม่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวหรือการใช้ประโยชน์อื่น ถือเป็นการรายงานมดจากใน้ถ้ำเป็นครั้งแรกในประเทศไทย หลังจากมีการรายงานชนิดมดจากประเทศไทยครั้งแรกราว 129 ปีก่อน (ปี ค.ศ. 1892 หรือ พ.ศ. 2435) ถือเป็นปฐมบทของการศึกษาวิจัยมดถ้ำในประเทศไทย มดชนิดนี้ถูกค้นพบบริเวณใกล้ปากถ้ำ โดยสร้างรังในโพรงขนาดเล็กบริเวณผนังถ้ำในพื้นที่ค่อนข้างสลัว ห่างจากปากถ้ำประมาณ 3 เมตร สูงจากพื้นถ้ำ 2 เมตร ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการพบมดชนิดนี้บริเวณอื่นนอกจากในถ้ำแห่งนี้เท่านั้น ในขณะที่ญาติใกล้ชิดกับมดชนิดนี้สร้างรังในท่อนไม้ผุที่อยู่บนพื้นป่า ดร.โสภาค ผู้ร่วมค้นพบชนิดใหม่อีกท่านให้ความเห็นว่า มดถ้ำชนิดใหม่นี้อาจจะยังไม่เป็นมดถ้ำที่แท้จริงเนื่องจากยังขาดคุณสมบัติบางประการของลักษณะสิ่งมีชีวิติที่อาศัยอยู่ในถ้ำ เช่น มีหนวดและขายาว ตาเล็กหรือไม่มี สีค่อนข้างจาง และไม่เคลื่อนที่ด้วยการบิน แต่มดชนิดใหม่ที่ค้นพบไม่มีลักษณะดังกล่าวที่เด่นชัด มีแต่เพียงสีที่จางกว่ามดชนิดอื่น เนื่องจากอาศัยอยู่ในที่มืด ดร.วียะวัฒน์ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้ำเป็นแหล่งอาศัยเฉพาะของสิ่งมีชีวิตอีกมากมายที่เรายังค้นไม่พบ ในขณะเดียวกันเป็นแหล่งท่องเที่ยวของผู้รักการผจญภัย การท่องเที่ยวถ้ำโดยไม่ทราบข้อมูลวิชาการที่ถูกต้องอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในถ้ำได้ จึงจำเป็นต้องศึกษาถ้ำอย่างจริงจังในทุกมิติ

ผู้เรียบเรียง สุชาดา  คำหา