เมื่อมนุษย์เผชิญกับความเครียด (Stress) ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้รู้สึกกดดัน วิตกกังวล ร่างกายจะเกิดการตอบสนองอย่างเฉียบพลัน โดยหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีน (Adenaline) ที่บริเวณต่อมหมวกไต ทำให้หัวใจบีบตัวมากขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิตสูง ทั้งยังกระตุ้นให้ร่างกายเตรียมพร้อมต่อการตอบสนองในภาวะฉุกเฉิน นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์พบว่าลมหายใจและเหงื่อของมนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่ออยู่ในสภาวะเครียดเช่นกัน
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยควีนส์แห่งเมืองเบลฟาสต์ (Queen's University Belfast) ประเทศไอร์แลนด์เหนือ ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารวิทยาศาสตร์ PLOS ONE ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 เกี่ยวกับกลิ่นที่ถูกปล่อยออกมาจากร่างกายของมนุษย์เรา เพราะกลิ่นเป็นสัญญาณทางเคมีที่แสดงถึงภาวะและระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้ทีมวิจัยเกิดข้อสงสัยว่าสุนัขซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดกับมนุษย์ อาจมีความสามารถรับรู้สัญญาณทางเคมีเหล่านั้น ที่เกี่ยวข้องกับสภาวะจิตใจของมนุษย์
ทีมวิจัยจึงได้ทำการทดสอบความสามารถในการแยกกลิ่นความเครียด โดยนำอาสาสมัครจำนวน 36 คน ที่ไม่มีประวัติสูบบุหรี่ และรับประมานอาหารปกติก่อนเข้าร่วมการทดลอง มาเก็บตัวอย่างลมหายใจและเหงื่อ ก่อนและหลังถูกกระตุ้นให้อยู่ในสภาวะเครียดโดยการให้ทำโจทย์คิดเลขเร็ว รวมทั้งวัดอัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิต จากนั้นนำสุนัขดมกลิ่นจำนวน 4 ตัว ที่มีสายพันธุ์แตกต่างกัน เข้ารับการฝึกแยกแยะกลิ่นลมหายใจและเหงื่อของผู้ร่วมทดลองที่ถูกกระตุ้นให้เกิดความเครียดออกจากสภาวะปกติ จากนั้นจึงฝึกให้สุนัขแสดงพฤติกรรมแจ้งเตือนเมื่อพบกลิ่นความเครียด
จากการทดลองข้างต้น พบว่าสุนัขสามารถแยกแยะกลิ่นความเครียดจากลมหายใจและกลิ่นเหงื่อได้ โดยมีความแม่นยำอยู่ที่ประมาณ 93.75% จากการทดลอง 720 ครั้ง จึงสามารถสรุปได้ว่าความเครียดทางจิตใจอย่างเฉียบพลัน ไม่เพียงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของมนุษย์ ยังกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในร่างกายที่ส่งผลต่อลมหายใจและเหงื่อ ซึ่งสุนัขสามารถตรวจพบได้ ทั้งยังกระตุ้นให้สุนัขเกิดการตอบสนองที่ทำให้เจ้าของรู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานสุนัขบำบัดความเครียดทางจิตใจในผู้ที่มีสภาวะอารมณ์ไม่มั่นคง และผู้ที่มีภาวะเครียดหลังเผชิญเหตุการสะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder หรือ PTSD) อีกด้วย
เรียบเรียงโดย: ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
Link ที่เกี่ยวข้อง:
Dogs can smell when we're stressed, study suggests. [ออนไลน์]. 2022, แหล่งที่มา: https://www.sciencedaily.com/releases/2022/09/220929133419.htm [7 ธันวาคม 2565]
Dogs can discriminate between human baseline and psychological stress condition odours. [ออนไลน์]. 2022, แหล่งที่มา: https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0274143 [7 ธันวาคม 2565]