ป่าดิบชื้นแห่งแอนตาร์กติกา

ป่าดิบชื้นแห่งแอนตาร์กติกา

29-04-2022
ป่าดิบชื้นแห่งแอนตาร์กติกา

ภาพจำลองพื้นทวีปขั้วโลกใต้ในยุค Cretaceous

ครั้งแรกกับหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ว่าทวีปแอนตาร์กติกา ในยุคครีเทเชียส(ประมาณ 90 ล้านปีก่อน)เคยมีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีพืชพรรณไม้ บึงน้ำ และมีลักษณะป่าที่คล้ายคลึงกับป่าดิบชื้นในเกาะทางตอนใต้ของประเทศนิวซีแลนด์ในปัจจุบัน

ผลการศึกษาวิจัยการค้นพบในครั้งนี้ได้ตีพิมพ์ลงวารสาร Nature เมื่อต้นเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา โดยความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยทะเลและขั้วโลก AWI (Alfred Wegener Institute)ประเทศเยอรมนี กับสถาบันการศึกษาและสำรวจทวีป Antarctic BAS (British Antarctic Survey) ประเทศอังกฤษ ที่ได้สำรวจขุดเจาะพื้นน้ำแข็งตะกอนและพื้นดินใต้ทะเลในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ปี 2560 เพื่อศึกษาหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตในอดีต บริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอนตาร์กติกาใกล้กับเกาะไพน์ (Pine) และธารน้ำแข็งทเวทส์(Thwaites)ซึ่งห่างจากขั้วโลกใต้ประมาณ900 กิโลเมตรเมื่อวิเคราะห์ตัวอย่างของดินที่ได้มาด้วยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan - Computerized Tomography) พบว่าประกอบไปด้วยชิ้นส่วนดึกดำบรรพ์ของดินละอองเกสรสปอร์เซลล์ของพืชสภาพดีที่สามารถระบุชนิดได้กว่า 65 ชนิดและรากในสภาพสมบูรณ์จำนวนมากจากหลักฐานเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าพืชเหล่านี้มีความอุดมสมบูรณ์และเจริญได้ดีในอุณหภูมิประมาณ 13 องศาเซลเซียส
ในยุคครีเทเชียสโลกมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เจือปนอยู่ในชั้นบรรยากาศสูงมาก(ประมาณ 1,700 PPM) และเมื่อนำหลักฐานมาสร้างแบบจำลองภูมิอากาศของทวีปแอนตาร์กติกาขณะนั้น พบว่าสภาพภูมิอากาศของโลกอบอุ่นกว่าในปัจจุบันมากที่ทวีปแอนตาร์กติกาขณะนั้นมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 12 องศาเซลเซียส (ประมาณ 19 องศาเซลเซียสในฤดูร้อน)และปริมาณน้ำฝน 97 ลูกบาศก์นิ้วต่อปี เมื่อเทียบกับปัจจุบันสภาพอากาศช่วงกลางวันมีอุณหภูมิเฉลี่ยติดลบ 25-60องศาเซลเซียสจึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้สภาพอากาศที่เคยอบอุ่นของทวีปแอนตาร์กติกาในอดีตเย็นลงจนกลายเป็นน้ำแข็งปกคลุมไปทั่วอย่างในปัจจุบันและจากสภาพอากาศในปัจจุบันนี้ที่ปริมาณ CO2 สูงขึ้นเรื่อยๆ (ปัจจุบันมี CO2 เจือปนอยู่ในชั้นบรรยากาศราว 400 PPM) และอาจจะสูงพอๆ กับยุคครีเทเชียสภายในเวลาไม่กี่ร้อยปี จะส่งผลให้โลกของเราอุณหภูมิอบอุ่นขึ้นและกลับไปเหมือนอดีตหรือไม่ข้อสงสัยนี้นักวิทยาศาสตร์จะต้องหาคำตอบกันต่อไป

 

ผู้เขียน

จิรวรรณ ว่าวจังหรีด

ศูนย์ข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ อพวช.

ที่มาของรูปภาพ

https://www.bbc.com/news/science-environment-52125369

ที่มาของแหล่งข้อมูล

https://themomentum.co/rain-forest-in-antarctica/ [16 เมษายน 2563]
THAI WARE.นักวิทยาศาสตร์ค้นพบป่าดิบชื้นยุคCretaceousบริเวณใกล้กับขั้วโลกใต้ [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา : https://news.thaiware.com/18398.html?utm_source=linetoday&utm_medium=source [16 เมษายน 2563]
BBC.Dinosour walked through Antactica Rainforests [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา : https://www.bbc.com/news/science-environment-52125369 [16 เมษายน 2563]
Nature.Temperate rainforests near the South Pole during peak Cretaceous warmth[ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา : https://www.nature.com/articles/s41586-020-2148-5 [16 เมษายน 2563]