เชื้อเพลิง ที่บางพลี - Styrene monomer

เชื้อเพลิง ที่บางพลี - Styrene monomer

29-04-2022
เชื้อเพลิง ที่บางพลี - Styrene monomer

จากเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่บริเวณซอยกิ่งแก้ว 21 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ พบว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้จากโรงงานผลิต Expand polystyrene (เอ็กซ์แพนด์ โพลีสไตรีน) หรือชื่อที่เราทุกคนรู้จักกันดีในชื่อเม็ดโฟม ใช่แล้วเจ้าโฟมเม็ดกลม ๆ ขาว ๆ ที่เรามักจะเล่นให้มันปลิวทั่วบ้านจนโดนพ่อแม่บ่นนั่นแหละ จากเหตุเพลิงไหม้นี้ส่งผลให้บ้านเรือนโดยรอบเสียหายจากแรงอัดของการระเบิดที่เกิดขึ้น ก่อนจะเกิดการรั่วไหลของสารเคมี Styrene Monomer (สไตรีน โมโนเมอร์) สารเคมีไวไฟอันตราย ทำให้เกิดการลุกไหม้ขึ้นอีกเป็นรอบที่สอง
.
.
สาร Styrene Monomer (สไตรีน โมโนเมอร์) มีสูตรเคมีว่า C6H5CH=CH2 เป็นสารที่ปัจจุบันได้มาจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ไม่มีสี สไตรีน ถูกใช้งานในโลกมนุษย์ มานานกว่า 70 ปีในการใช้เป็นสารตั้งต้นเพื่อผลิตข้าวของรอบ ๆ ตัวเราเช่น พลาสติก โฟม และยางสังเคราะห์
.
.
แต่อีกด้านหนึ่ง สารที่สร้างประโยชน์หลากหลายให้มนุษย์ก็เป็นสารเคมีที่มีความอันตรายได้เช่นเดียวกัน สารสไตรีน โมโนเมอร์ ที่อุณหภูมิห้องมีสถานะเป็นของเหลวใส เป็นวัตถุไวไฟที่มีจุดวาบไฟต่ำเพียง 31 องศาเซลเซียสเท่านั้น นั่นหมายความว่า มันพร้อมที่จะลุกเป็นไฟได้เสมอหากไม่ได้รับการดูแลที่ดี ย้อนไปเมื่อปี 2019 ณ ประเทศเกาหลีใต้ เรือขนสารเคมี Stolt Groenland เดินทางจากเมืองฮุสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังเข้าเทียบท่าที่เมืองอุลซัน ไอระเหยของสาร สไตรีน โมโนเมอร์ เกิดการรั่วไหลออกจากที่เก็บ และเพียงแค่ประกายไฟจากไฟฟ้าสถิตเพียงเล็กน้อย ก็เกิดการระเบิดขึ้นทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นลูกเรือในบริเวณใกล้เคียงมากถึง 18 คน
.
.
ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ สารนี้มีกลิ่นหอมคล้ายดอกไม้ แต่คงเปรียบเหมือนดอกไม้อาบยาพิษ ย้อนกลับไปไม่นาน ที่รัฐอานธรประเทศ ในอินเดีย เจ้าหน้าที่ของบริษัทหนึ่งกำลังเข้าไปจัดการเปิดระบบการทำงานของโรงงานเพื่อเดินเครื่องหลังจากการ Lockdown เนื่องมาจากสถานการณ์ Covid-19 ก่อนที่จะเกิดการรั่วไหลของแก๊สจากไอระเหยของสไตรีน กินพื้นที่เป็นวงกว้าง ในรัศมี 3 กิโลเมตรรอบโรงงาน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบโรงงานหลายร้อยชีวิตถูกหามส่งโรงพยาบาล เนื่องมาจากความเป็นพิษของแก๊ส ซึ่งเมื่อสูดดมเข้าไปจะทำให้ เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ วิงเวียน จนถึงขั้นหมดสติได้ แก๊สพิษจากสไตรีนนั้น ไม่สามารถป้องกันได้ด้วยหน้ากากอนามัยธรรมดา หรือหน้ากาก N95 แต่ต้องใช้หน้ากากกันแก๊สโดยเฉพาะ และหลายร้อยคนที่ต้องเข้าโรงพยาบาลในวันนั้น หลายสิบคนมีอาการร้ายแรงถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และกว่าแปดร้อยคน ต้องอพยพออกจากพื้นที่เพื่อเอาตัวรอดจากแก๊สพิษ จากเหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตถึง 11 คน
.
.
ย้อนกลับมาที่ บางพลี เราคงเห็นได้ว่าการควบคุมเพลิงเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะเป็นเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดจากสารเคมี สไตรีนที่เป็นเชื้อไฟในกรณีนี้ มีค่าความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำที่ 0.909 g/cm3 นั่นหมายความว่ามันจะเบากว่าน้ำ ทำให้มันลอยเหนือน้ำ การดับไฟที่เกิดจากสารสไตรีนด้วยน้ำจึงเป็นไปได้ยาก การใช้น้ำจึงทำได้แค่เพียงการลดความร้อนและช่วยควบคุมเพลิงไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้างมากขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้นักดับเพลิงจำเป็นต้องใช้โฟมเคมีดับเพลิงในการตัดไฟแทนการใช้น้ำ เพราะไฟจะเกิดขึ้นได้เมื่อมี เชื้อเพลิง อากาศ หากเราแยกเชื้อเพลิงและอากาศออกจากกันได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นไฟก็จะดับลง
.
.
หากท่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็อย่าเพิ่งคิดว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่รอบ ๆ ตัวท่าน อย่างพลาสติกหรือโฟม จะเป็นผลไม้ของต้นไม้พิษ จนรู้สึกไม่ดีกันไปเสียก่อน เพราะหากปราศจากมันแล้ว การดำเนินชีวิตของเราคงยากขึ้นมาก ๆ เพราะลองหันไปดูซ้ายขวาแล้ว ไม่มีทางเลยที่เราจะไม่พบมันในข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของเรา และการวิวัฒนาการของข้าวของเครื่องใช้ของเราอาจจะไม่เจริญรวดเร็วอย่างทุกวันนี้ก็เป็นได้ เรียกได้ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว หรือในปัจจุบันอาจถึงขั้นเป็นไมโครพลาสติกในร่างกายเราไปแล้วก็ได้นะ
.
.
และสุดท้ายถึงแม้สถานการณ์ล่าสุดที่บางพลีจะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไร แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนจากทุกเหตุการณ์ คือความสูญเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เกิด การดูแลระบบความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ และความไม่ประมาท เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ถึงแม้จะอยู่ในสถานการณ์ Lockdown ก็ตาม การเตรียมการและความพร้อมก่อนเกิดเหตุก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ หรือแม้กระทั่งเรื่องระดับประเทศเช่น การจัดผังเมือง การทำ Zoning ที่ทุกท่านอาจคิดว่าทำไมโรงงานถึงมาสร้างในพื้นที่ชุมชน หรือทำไมถึงให้สร้างบ้านใกล้โรงงานได้ และอะไรมาก่อนกัน คงต้องเป็นประเด็นให้ท่านได้ขบคิดกันต่อไป

 

ผู้เขียน ศุภพิพัฒน โยธี

ศูนย์ข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ อพวช.