ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization หรือ WMO) ประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หลังการสิ้นสุดของปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ซึ่งดำเนินมาอย่างยาวนานถึง 3 ปี และปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ อาจส่งผลให้โลกของเรามีอุณหภูมิสูงขึ้น และมีสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง
ผลการศึกษาพบว่า ขณะนี้มหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์เอนโซ (ENSO) ซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ (Southern Oscillation) ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทรและบรรยากาศ ส่งผลทำให้ประเทศในบริเวณทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาสมุทรอินเดีย ทวีปออสเตรเลีย ทวีปแอฟริกาตะวันออก และตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงกว่าปกติ และความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ 3 รูปแบบ ได้แก่ ความแห้งแล้ง ความหนาวเย็น และพายุฝนที่มีความรุนแรงระดับพายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone)
นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญยังเผยว่ามีแนวโน้มสูงที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงจากปรากฎการณ์เอนโซ่ เป็นปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน โดยยังไม่มีการระบุระดับความรุนแรง และระยะเวลาในการเกิดปรากฏการณ์ แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์ว่าโลกของเราจะต้องเผชิญกับอากาศร้อน และอุณหภูมิที่สูงขึ้นแบบทำลายสถิติในปี พ.ศ. 2567 เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญ และก๊าซเรือนกระจก (Green House Gases) ที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศจากกิจกรรมของมนุษย์
สำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ NOAA) ประเทศสหรัฐอเมริกา อธิบายถึงแนวโน้มของปรากฎการณ์เอลนีโญที่จะรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการเกิดพายุเฮอริเคน (Hurricane) ซึ่งเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดเฉพาะในบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก และมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งยังทำให้ประเทศที่อยู่บริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเขตร้อนมีอากาศอบอุ่นกว่าปกติอีกด้วย
คำอธิบายของผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาระดับโลกเกี่ยวกับปรากฎการณ์เอลนีโญที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ เป็นเสมือนการเตือนให้นานาประเทศเฝ้าระวัง และเตรียมการรับมือกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงกว่าปกติ และความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติหลายรูปแบบที่สร้างความเสียหายให้แก่ระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ที่อยู่อาศัย ระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่ง ระบบสื่อสาร เป็นต้น ที่อาจลุกลามไปถึงระบบเศรษฐกิจและสังคม จึงนับว่าเป็นการท้าทายความสามารถในการวางแผน บริหารจัดการ และรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของแต่ละประเทศอย่างยิ่ง
เรียบเรียงโดย: ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ข้อมูลจาก:
WMO Update: Prepare for El Niño. [ออนไลน์]. 2023, แหล่งที่มา: https://public.wmo.int/en/media/press-release/wmo-update-prepare-el-ni%C3%B1o [15 มิถุนายน 2566]
Here comes El Niño: It’s early, likely to be big, sloppy and add even more heat to a warming world. [ออนไลน์]. 2023, แหล่งที่มา: https://www.nbcnews.com/science/science-news/comes-el-nino-s-early-likely-big-sloppy-add-even-heat-warming-world-rcna88342 [15 มิถุนายน 2566]
June 2023 ENSO update: El Niño is here. [ออนไลน์]. 2023, แหล่งที่มา: https://www.climate.gov/news-features/blogs/june-2023-enso-update-el-ni%C3%B1o-here [15 มิถุนายน 2566]
เอนโซ่... ปรากฏการณ์ป่วนฝน/แล้ง. [ออนไลน์], แหล่งที่มา: https://www.stkc.go.th/sites/default/files/stiarticle_document/1489212394.pdf [15 มิถุนายน 2566]