เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา มีการประชุม “แนวทางกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการในสถานพยาบาลเอกชน” โดยมีผู้แทนจากสถานพยาบาลเอกชน คลินิก และบุคลากรด้านสาธารณสุขเข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในที่ประชุมเกี่ยวกับการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนเข้าถึงยากัญชาทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบัน ด้วยการขยายการบริการทางการแพทย์ไปสู่สถานพยาบาลเอกชนให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีคลินิกกัญชาทางการแพทย์และคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอื่น ๆ รวมกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ และได้ให้บริการผู้ป่วยแล้วกว่า 100,000 รายต่อปี และยังได้เร่งผลักดันยาที่มีส่วนผสมของกัญชาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติอีกด้วย
จากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ไฟเขียวและมีการขับเคลื่อนให้มีการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ อาหาร และเครื่องสำอาง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีหลายหน่วยงานสนใจทำวิจัยและนำกัญชามาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายมากขึ้น ภายใต้การควบคุมดูแลและการได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมถึงการให้ผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตปลูกกัญชาสามารถปลูกกัญชาเพื่อขายให้กับสถานพยาบาลเอกชนผลิตยาที่มีส่วนผสมของกัญชาในการรักษาโรคต่าง ๆ ได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้มีการลงนามปลด 5 ตำรับยากัญชาแผนไทยออกจากบัญชีตำรับยาเสพติดแล้ว และอนุญาตให้ภาคเอกชนผลิตได้เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2564 เป็นต้นไป โดยตำรับยา 5 ตำรับที่มีส่วนประกอบของใบและกิ่งก้านของกัญชาที่ปลดออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ได้แก่ยาศุขไสยาศน์ ยาแก้นอนไม่หลับ ยาแก้ผอมเหลือง ยาแก้ลมแก้เส้น ยาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง ยาแก้โรคจิต
สำหรับประชาชนที่ต้องการนำใบกัญชาไปประกอบอาหารเพื่อดูแลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าสามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือรายงานกับ อย. แต่ขอให้เป็นกัญชาที่ได้มาจากการปลูกที่ถูกกฎหมายเท่านั้น
ผู้เขียน วรภร ฉิมมี
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ อพวช.
ที่มาของภาพ https://tna.mcot.net/social-654751
ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference)
สำนักข่าวไทย https://tna.mcot.net/social-654751
https://www.prachachat.net/general/news-614595
ค้นคว้าเพิ่มเติม (แนะนำแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม) https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/927484