ระบบภูมิคุ้มกัน : การป้องกันของร่างกายจากการติดเชื้อ
เพื่อให้เข้าใจถึงการทำงานของวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เราต้องเข้าใจกระบวนการการต่อสู้การป้องกันของร่างกายกับความเจ็บป่วย เช่น เมื่อเชื้อไวรัสโควิด 19 เข้ามาในร่างกายของเรา มันจะโจมตี และเพิ่มจำนวนมากขึ้น การบุกรุกของเชื้อโรคนี้เรียกว่า “การติดเชื้อ” และทำให้เกิดการเจ็บป่วย ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของเราใช้เครื่องมือหลายอย่างเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อเหล่านี้ ในเลือดของเรา เซลล์เม็ดเลือดแดงทำหน้าที่นำออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ขณะที่เซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันรูปแบบหนึ่งจะทำหน้าที่ต่อสู้กับการติดเชื้อโรคเหล่านี้ โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวประเภทต่าง ๆ จะทำหน้าที่ต่อสู้กับการติดเชื้อที่ต่างกันไป
เซลล์เม็ดเลือดขาวประเภท T- lymphocytes จะทำหน้าที่จดจำเชื้อโรคที่เคยเข้ามาในร่างกาย โดยมันจะเก็บเศษเสี้ยวของเชื้อโรคนั้นไว้ 2 -3 เซลล์ ดังนั้นหากมีเชื้อโรคเดิมเข้ามาในร่างกายอีก มันจะตรวจพบเจอเชื้อโรคที่คุ้นเคย จากนั้นเซลล์เม็ดเลือดขาวประเภท B- lymphocytes จะสร้างแอนติบอดีเพื่อโจมตีเชื้อโรคเหล่านั้น แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงต้องศึกษาต่อไปว่า เซลล์เม็ดเลือดขาว T- lymphocytes จะมีความจำเกี่ยวกับเชื้อโรคที่มันเคยตรวจพบเจอได้นานเพียงใด
วัคซีนโควิด 19 ทำงานอย่างไร
เมื่อเราฉีดวัคซีนใดๆ บางครั้งหลังการฉีด ด้วยกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการไข้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ และเป็นสัญญาณว่าร่างกายกำลังสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันเชื้อโรคนั้น ๆ หากเราฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เข้าไปในร่างกาย วัคซีนนั้นจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยที่เราไม่ได้เป็นโรค วัคซีนประเภทต่างๆ จะทำงานแตกต่างกันเพื่อการป้องกันร่างกายของเรา โดยวัคซีนทุกประเภทจะช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดขาว ทั้ง T- lymphocytes ซึ่งทำหน้าที่จดจำเชื้อโรค กับเซลล์เม็ดเลือดขาว
B- lymphocytes ที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคนั้น
โดยปกติร่างกายจะใช้เวลา 2 -3 สัปดาห์หลังจากฉีดวัคซีน ในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวทั้ง
T- lymphocytes และ B – lymphocytes ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่า ผู้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 แล้วยังติดเชื้อ อาจเป็นเพราะร่างกายที่รับวัคซีนนั้นมีเวลาไม่เพียงพอในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว
ประเภทของวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19
ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 มีอยู่ 3 ประเภท ตามการแบ่งของ ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention : CDC)
1. วัคซีน mRNA (mRNA Vaccines) ผลิตจากส่วนของไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด 19 เศษเสี้ยวไวรัสเหล่านี้จะทำให้ร่างกายของเราสร้างหรือ Copy โปรตีนที่ไม่เป็นพิษขึ้นมาหรือเรียกว่าแอนติบอดี จากนั้นมันจะไปทำลายเศษเสี้ยวไวรัสนั้น โปรตีนที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้จะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้าง T- lymphocytes และ B – lymphocytes ขึ้นมา เพื่อเตรียมต่อสู้กับไวรัสโคโรนา 2019 หากร่างกายได้รับในอนาคต
2. วัคซีนหน่วยย่อยของโปรตีน (Protein Subunit Vaccines) เป็นวัคซีนจากเศษเสี้ยวโปรตีนของไวรัส เมื่อฉีดวัคซีนเข้าไป ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายจะตรวจจับว่า โปรตีนนี้ไม่ควรอยู่ในร่างกาย จึงสร้าง T- lymphocytes และ B – lymphocytes ขึ้นมาเพื่อเตรียมต่อสู้กับไวรัสโคโรนา 2019 ที่ร่างกายอาจได้รับในอนาคต
3. วัคซีนเวคเตอร์ (Vector Vaccines) เป็นวัคซีนที่ผลิตมาจากไวรัสที่มีชีวิตแต่ถูกทำให้อ่อนกำลังลง แล้วตัดต่อใส่สารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนา 2019 (Viral Vector) ลงไป เมื่อร่างกายฉีดวัคซีนที่มี Viral Vector เข้าไป ร่างกายของเราจะสร้างหรือ Copy โปรตีนที่ไม่เป็นพิษขึ้นมาหรือแอนติบอดี เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้าง T- lymphocytes และ B – lymphocytes ขึ้นมา เพื่อเตรียมต่อสู้กับไวรัสโคโรนา 2019 หากร่างกายได้รับในอนาคต
ทำไมวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ต้องฉีด 2 ครั้ง / 1 คน
ตอนนี้วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ส่วนใหญ่ต้องฉีด 2 ครั้ง ครั้งละ 1 โดส ต่อ 1 คน โดยเมื่อเริ่มฉีดครั้งแรกเพื่อเป็นการเริ่มสร้างการป้องกันของร่างกาย จากนั้นรออีกประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ จึงฉีดครั้งที่ 2 เพื่อเพิ่มการป้องกันให้ได้มากที่สุด แต่สำหรับวัคซีนที่กำลังพัฒนาในเฟส 3 ตอนนี้ มีแนวโน้มการฉีดเพียง 1 ครั้ง ต่อ 1 คน เท่านั้น
ส่งท้าย
การได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด 19 มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 บางคนอาจเจ็บป่วยถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนก็เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่ง ในหลายๆ ขั้นตอนเพื่อการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ดังนั้น การใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง และการล้างมือบ่อยๆ จะช่วยให้ทุกคนห่างไกลจากโรคโควิด 19 และทำให้การฉีดวัคซีน ส่งผลอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
แปลและเรียบเรียงโดย อานุภาพ สกุลงาม
กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
แหล่งข้อมูล
Understanding How COVID-19 Vaccines Work จาก ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) ที่ https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/different-vaccines/how-they-work.html?fbclid=IwAR3ppc8dQIPkXf4RTn-32lGXZ-wu7t7AttBxNHSqoA1MyLtKVb90yHs7tm8
เข้าถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564