Covid-19 โรคติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่

Covid-19 โรคติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่

29-04-2022
Covid-19 โรคติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่

ในที่สุดองค์การอนามัยโลกก็ประกาศชื่อเป็นทางการให้กับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากโคโรนาไวรัส ที่เริ่มต้นระบาดจากเมือง อู่ฮั่น ว่า โควิด 19 (Covid-19) ซึ่งหมายถึง “โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019”

รายงานข่าวจากสำนักข่าว บีบีซี ประเทศสหราชอาณาจักร เปิดเผยถ้อยแถลงของ ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (World Health Organisation, WHO) กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่ ณ กรุงเจนีวา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาว่า “ขณะนี้เรามีชื่อสำหรับโรคนี้แล้วคือ Covid-19” ซึ่งชื่อดังกล่าวเป็นการตั้งชื่ออย่างตรงไปตรงมา โดยมาจากการรวมกันของ Corona-Virus-Disease-2019 เมื่อนำอักษรตัวหน้าที่บ่งบอกความสำคัญในแต่ละส่วนมารวมกันจึงได้เป็น Covid-19 แปลความหมายได้ว่า เชื้อไวรัสกลุ่มโคโรนาที่ทำให้เกิดโรคแพร่ระบาดในปี 2019 นั่นเอง โรค Covid-19 นี้ได้กลายเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่ทุกฝ่ายกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งยอดผู้เสียชีวิตที่พุ่งสูงขึ้นเกินหนึ่งพันคน และมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 4 หมื่นคนทั่วโลก และยังส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วนอย่างรุนแรง ทั้งด้าน สุขภาพ เศรษฐกิจ การคมนาคม ไปจนถึงการศึกษา ในขณะที่ ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ได้เรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมกันหาทางรับมือและต่อสู้กับโรค Covid-19 นี้ ให้สุดความสามารถ

อย่างไรก็ตาม แม้โรคนี้จะมีชื่ออย่างเป็นทางการแล้ว แต่ไวรัสต้นเหตุ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า โคโรนาไวรัส นั้นก็ยังไม่ได้รับการประกาศชื่ออย่างเป็นทางการ ยังคงต้องรอต่อไปโดยที่คณะกรรมการนานาชาติด้านอนุกรมวิทยาทางไวรัส (International Committee on Taxonomy of Viruses) ได้ตั้งชื่อไว้ก่อนว่า SARS-CoV-2 (Severe Acute Respiratory Syndrome Coronavirus 2) ซึ่งเป็นชื่อกลางๆที่มีความหมายว่าเป็น เชื้อไวรัสในกลุ่มโคโรน่าที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ส่วนหมายเลข 2 นั้นใส่เพื่อให้ทราบว่าเชื้อไวรัสตัวนี้เป็นคนละชนิดกับโคโรนาไวรัสที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส ซึ่งเคยแพร่ระบาดในช่วงปี 2003 องค์การอนามัยโลกได้เสนอว่า ชื่อของไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคเหล่านี้มีความละเอียดอ่อน จะต้องเป็นชื่อที่ไม่อ้างอิงถึง ภูมิศาสตร์ ชนิดของสัตว์ ชื่อคน วัฒนธรรม กลุ่มประชากร อุตสาหกรรม หรืออาชีพ ซึ่งจะทำให้สิ่งเหล่านี้ได้รับผลกระทบในภาพลักษณ์ได้

ผู้เขียน: ชนินทร์ สุริยกุล ณ อยุธยา
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ อพวช.

ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/news/world-asia-china-51466362


แหล่งข่าว
https://www.bbc.com/news/world-asia-china-51466362
https://www.biorxiv.org/content/10.1101/2020.02.07.937862v1
https://www.prachachat.net/world-news/news-420504

ข่าวสารที่่คล้ายกัน