คณะนักวิจัยพบจิ้งจกดินชนิดใหม่ หางสีเหลืองทอง ที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 วารสารวิชาการ Zootaxa ได้ทำการเผยแพร่การค้นพบจิ้งจกดินชนิดใหม่ โดยคณะนักวิจัยชาวไทยประกอบด้วย คุณณัฐสุดา ดรบัณฑิต คุณมนตรี สุมณฑา คุณมณีรัตน์ สุตันตั้งใจ คุณวินัย สุตันตั้งใจ ร่วมกับ Olivier S. G. Pauwels นักวิจัยจากประเทศเบลเยียม
โดยในปี 2023 ขณะที่ทีมวิจัยได้ทำการสำรวจสิ่งมีชีวิตกลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในเวลากลางคืนอยู่ที่บริเวณเขาอีบิด จังหวัดเพชรบุรี ก็ได้พบเข้ากับจิ้งจกที่มีสีสันและลักษณะที่ไม่คุ้นเคยกำลังออกหากินจิ้งหรีดอยู่ที่บริเวณก้อนหินปูน พวกมันมีลำตัวที่ปราดเปรียว หัวขนาดยาว ขาที่ค่อนข้างสั้น มีนิ้วเท้าคล้ายใบไม้ และมีกรงเล็บที่แข็งแรง ขนาดตัวของพวกมัน (ปลายสุดของส่วนหัวจนถึงช่องเปิดร่วม) มีความยาวประมาณ 45 มิลลิเมตร ลำตัวมีสีครีมอมชมพู มีรอยด่างเป็นสีน้ำตาลเพื่อกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมแต่ส่วนที่โดดเด่นของชนิดนี้เลยก็คือหางของมันที่เป็นสีเหลืองทอง จากการวิจัย สี ลวดลาย จำนวนและการเรียงตัวของเกล็ด ร่วมกับลักษณะทางกายภาพอื่น ๆ พบว่านี่เป็นจิ้งจกชนิดใหม่ และได้ให้ชื่อกับมันว่า Dixonius chotjuckdikuli ตามชื่อของคุณณัฐภัท โชติจักรดิกุล ผู้ที่มีส่วนช่วยในการค้นพบจิ้งจกดินชนิดใหม่นี้ (ชื่อสามัญคือ จิ้งจกดินเขาอีบิด หรือ Khao Ebid leaf-toed gecko)
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษของจิ้งจกดินคือ Leaf-Toed Gecko แปลตรงตัวได้ว่า“จิ้งจกเท้าใบไม้” อธิบายตามลักษณะเท้าที่แบนราบลักษณะคล้ายกับใบไม้ ซึ่งเป็นการวิวัฒนาการมาเพื่อให้เดินบนพื้นดินและก้อนหินได้อย่างสะดวก
โดยจิ้งจกดินเขาอีบิดนับเป็นจิ้งจกชนิดที่ 17 ในสกุล Dixonius โดยที่ 7 จาก 17 ชนิดนั้นมีการกระจายพันธุ์อยู่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น และบางชนิดก็ยังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เนื่องจากการกระจายพันธุ์ของพวกมันอยู่ในบริเวณที่จำกัด และกำลังถูกรุกรานจากการใช้ประโยชน์ของมนุษย์
แหล่งที่มาของข่าว
1. Nattasuda Donbundit, Montri Sumontha, Maneerat Suthanthangjai, Winai Suthanthangjai and Olivier S. G. Pauwels. 2024. Another New micro-endemic, Limestone-dwelling Leaf-toed Gecko (Gekkonidae: Dixonius) from Phetchaburi Province, western Thailand. Zootaxa. 5447(4); 531-546. DOI: 10.11646/zootaxa.5447.4.
3. http://novataxa.blogspot.com/2024/05/dixonius.html
4. https://www.matichon.co.th/social/news_3598625
ผู้เรียบเรียง
เฮียฮก ศุภพิพัฒน โยธี
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งขาติ