นักวิทยาศาสตร์พบวิธีเปลี่ยนขยะพลาสติกให้กลายเป็นสบู่

นักวิทยาศาสตร์พบวิธีเปลี่ยนขยะพลาสติกให้กลายเป็นสบู่

09-01-2024
https://www.shutterstock.com/th/image-photo/closeup-on-young-woman-hands-soap-2175958119

         เดือนกันยายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ทีมวิจัยจากสถาบันพอลิเทคนิคและมหาวิทยาลัยรัฐเวอร์จิเนีย (Virginia Polytechnic Institue and State University) หรือเวอร์จิเนียเทค (Virginia Teach) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารวิทยาศาสตร์ (Science) เกี่ยวกับการพัฒนาวิธีอัพไซเคิล (Upcycle) เปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นสบู่สำหรับทำความสะอาด

 พลาสติก และกรดไขมัน (Fatty Acid) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของสบู่ เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ที่ประกอบด้วยธาตุคาร์บอน (Carbon หรือ C) ไฮโดรเจน (Hydrogen หรือ H) และออกซิเจน (Oxygen หรือ O) เป็นหลัก และมีธาตุอื่น ๆ เป็นองค์ประกอบย่อย แต่โมเลกุลของพลาสติกมีขนาดใหญ่กว่ากรดไขมันค่อนข้างมาก ทีมวิจัยจึงสนใจหาวิธีการย่อยสารประกอบไฮโดรคาร์บอนขนาดใหญ่ของพลาสติกให้มีขนาดเล็กลง เพื่อเปลี่ยนเป็นกรดไขมัน

การศึกษาครั้งนี้ทีมวิจัยได้นำพลาสติกชนิดพอลิเอทีลีน (Polyethylene) และพอลิโพรพีลีน (Polypropylene) มาเข้าสู่กระบวนการเผาด้วยความร้อนสูงโดยไม่ใช่ก๊าซออกซิเจน หรือกระบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis) ได้เป็นสารผสม ที่ต้องนำไปผ่านกระบวนการเคมีเพื่อเปลี่ยนสารผสมพอลิโอเลฟินส์ (Polyolefins) ซึ่งเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ไม่อิ่มตัว ให้อิ่มตัว จากนั้นเติมออกซิเจนเข้าไปเพื่อให้เกิดความเสถียร ได้เป็นสารที่มีลักษณะเป็นไข (Wax) ที่สามารถนำเข้าสู่กระบวนการทางเคมีอีกครั้งเพื่อให้ได้กรดไขมันซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตสบู่ และสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) ซึ่งใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือน

การสำรวจของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมหลายแห่งทั่วโลกพบว่า มีขยะพลาสติกชนิดพอลิเอทีลีนและพอลิโพรพีลีนในรูปแบบบรรจุภัณฑ์อาหารมากถึงร้อยละ 80 ของขยะพลาสติกทั้งหมดที่กำลังสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ผู้วิจัยจึงเชื่อว่าหากพัฒนากระบวนการเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นกรดไขมัน เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตสบู่และสารทำความสะอาดระดับอุตสาหกรรมได้ จะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกได้ถึง 200 ล้านตัน ทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่า และสร้างคุณค่าให้กับขยะพลาสติกได้อย่างแท้จริง เพียงอาศัยความร่วมมือระหว่างชุมชม สถาบันวิจัย และโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น