เมื่อคืนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นักดาราศาสตร์จาก โครงการสำรวจอวกาศแคทลินา (Catalina Sky Survey) แคคเปอร์ เวียร์ซโชส (Kacper Wierzchos) และ เธียโดร์ เพรน (Theodore Pruyne) ตรวจพบวัตถุอวกาศ ในเมืองทูซอน รัฐอริโซนา
นักดาราศาสตร์ของ Catalina Sky Survey ได้รับการสนับสนุนจากนาซา ในการค้นหา และติดตามวัตถุใกล้โลก โดยเฉพาะวัตถุที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อโลก โดยมีที่ตั้งอยู่ที่ห้องทดลองเกี่ยวกับดาวเคราะห์และดวงจันทร์ของมหาวิทยาลัยอริโซน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยพวกเขาระบุว่า วัตถุอวกาศชิ้นนี้เป็นดาวเคราะห์น้อย มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8 - 3.5 เมตร ทำหน้าที่เสมือน “ดวงจันทร์จิ๋ว” ที่โคจรรอบโลกของเรา การโคจรของดวงจันทร์จิ๋วแสดงให้เห็นว่าได้เข้าสู่วงโคจรของโลกเมื่อ 3 ปีก่อน
ต่อมาในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ศูนย์ดาวเคราะห์น้อยแห่งสหภาพดาราศาสตร์นานาชาติ The Internation Astronomical Union Minor Planet Center (IAU MPC) ได้ประกาศการค้นพบ ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ โดยตั้งชื่อว่า “2020 CD3” ซึ่งการรวมวงโคจรของดาวเคราะห์นี้ ชี้ให้เห็นว่า ดาวเคราะห์ดวงนี้จะเข้ามาอยู่ในวงโคจรของโลกเพียงแค่ชั่วคราว
การค้นพบครั้งนี้เป็น "เรื่องใหญ่" เพราะนี่คือ “การค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงที่ 2” และเคยมีการค้นพบวัตถุอวกาศชิ้นแรกมาแล้ว โดยเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2549 โดย Catalina Sky Survey เช่นกัน วัตถุนี้มีชื่อว่า “2006 RH120” เป็นหินอวกาศที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ และผ่านเข้ามาใกล้โลกทุก 20-30 ปี ซึ่งถูกดึงดูดไว้โดยแรงโน้มถ่วงของโลก และคงอยู่จนถึงราวเดือนกันยายน 2550 ก่อนที่มันจะพุ่งออกจากโลกเข้าหาระบบสุริยะ
อย่างไรก็ตามนักดาราศาสตร์ยังคงต้องเฝ้าสังเกตการณ์ต่อไป และคาดว่าอีกไม่นานเราจะทราบรายละเอียดข้อมูลของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มากขึ้น
เรียบเรียงโดย : รัชนีวรรณ บารมี
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ อพวช.