โพแทสเซียมพร่อง: ภัยคุกคามต่อความมั่นคงด้านอาหารที่ถูกมองข้าม

โพแทสเซียมพร่อง: ภัยคุกคามต่อความมั่นคงด้านอาหารที่ถูกมองข้าม

21-02-2024
d

การวิจัยเผยให้เห็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหารของโลกจากการขาดโพแทสเซียมในดิน บ่งชี้ความไม่สมดุลระหว่างการสูญเสียและการเติมใหม่ของโพแทสเซียมซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อผลผลิตของพืชผล สะท้อนถึงความจำเป็นของการจัดการด้านความยั่งยืนและนโยบายที่ใช้ขับเคลื่อน

งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Nature Food วันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย UCL มหาวิทยาลัย Edinburgh และศูนย์นิเวศวิทยาและอุทกวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร (UKECH) พบว่า ดินที่ใช้เพาะปลูกในหลายบริเวณทั่วโลกสูญเสียโพแทสเซียมไปมากกว่าปริมาณที่ถูกเติมเข้าไป นับเป็นปัญหาที่ถูกมองข้าม ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขอาจกลายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหารของโลกได้ พร้อมเสนอแนวทางสำหรับบรรเทาปัญหาดังกล่าว เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นักวิจัยรายงานว่า ประมาณ 1 ใน 5 ของดินเพื่อการเกษตรทั่วโลกกำลังเผชิญกับการขาดโพแทสเซียมอย่างรุนแรง และบางภูมิภาคมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาการขาดแคลนขั้นวิกฤติ ได้แก่ 44% ของดินเพื่อการเกษตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 39% ในละตินอเมริกา 30% ในแถบแอฟริกาใต้สะฮารา และ 20% ในเอเชียตะวันออก โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเกษตรที่เพิ่มมากขึ้น

โพแทสเซียมเป็นสารอาหารสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งช่วยในการสังเคราะห์แสงและการหายใจ การขาดโพแทสเซียมสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตและลดผลผลิตของพืชได้ เกษตรกรมักจะใส่ปุ๋ยที่อุดมด้วยโพแทสเซียมเข้าไปในดินเพื่อทดแทนสารอาหารที่หมดไป แต่ข้อจำกัดด้านการผลิตและการจัดจำหน่าย ตลอดจนคำถามที่ยังค้างอยู่เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอาจยับยั้งการใช้ปุ๋ยในบางพื้นที่ได้

Dr. Peter Alexander หนึ่งในทีมวิจัยจาก Edinburgh ระบุว่า ความผันผวนในราคาของแร่โปแตช (Potash) ซึ่งมีโพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบนั้นส่งผลกระทบสำคัญต่อระบบอาหารทั่วโลก การเข้าถึงโพแทสเซียมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเกษตรกรในการรักษาผลผลิตของพืชผล แต่ราคาโปแตชที่สูงในช่วงนี้ทำให้เกษตรกรบางกลุ่มไม่สามารถซื้อมาใช้ได้ การกระจุกตัวของตลาดและความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงปุ๋ยนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทีมนักวิจัยเรียกร้องให้มีการจัดการโพแทสเซียมอย่างเหมาะสมพร้อมกลไกการประสานงานระหว่างรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันยังไม่มีนโยบายหรือข้อบังคับระดับชาติหรือระดับนานาชาติที่ควบคุมการจัดการโพแทสเซียมในดินอย่างยั่งยืน ซึ่งอาจทำให้คล้ายกับระบบการจัดการธาตุอาหารพืชที่สำคัญอื่น ๆ อย่างไนโตรเจนและฟอสฟอรัสที่กำลังถูกพัฒนาอยู่

ข้อเสนอแนะ 6 ประการเกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการลดลงของผลผลิตพืชผล ปกป้องเกษตรกรจากความผันผวนของราคา และจัดการกับข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อม ที่ทีมวิจัยนำเสนอประกอบด้วย

  1. จัดทำการประเมินปริมาณและการกระจายของโพแทสเซียมทั่วโลกในปัจจุบันเพื่อระบุประเทศและภูมิภาคที่มีความเสี่ยงมากที่สุด
  2. สร้างความสามารถระดับชาติในการติดตาม คาดการณ์ และตอบสนองต่อความผันผวนของราคาโพแทสเซียม
  3. ช่วยเกษตรกรให้สามารถรักษาระดับโพแทสเซียมในดินให้เพียงพอด้วยการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบต่อผลผลิตของโพแทสเซียมที่จำกัดในพืชและดินต่าง ๆ
  4. ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของการขุดแร่โปแตชและพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน
  5. พัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนของโพแทสเซียมทั่วโลก ลดการใช้ให้เหลือน้อยที่สุด เพิ่มการใช้ซ้ำ และการรีไซเคิลสารอาหารให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  6. เพิ่มความร่วมมือระหว่างรัฐบาลผ่านสหประชาชาติและหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อพัฒนาการประสานงานนโยบายระดับโลก

ที่มาของภาพ : https://www.shutterstock.com/image-photo/corn-plants-wilting-dead-cornfield-herbicide-1990362278

ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference) :

1. https://scitechdaily.com/potassium-depletion-the-invisible-threat-to-global-food-security/

2.“Global Food Security Threatened by Potassium Neglect” by Will J. Brownlie, Peter Alexander, Mark Maslin, Miguel Cañedo-Argüelles, Mark A. Sutton and Bryan M. Spears, 19 February 2024, Nature Food. DOI: 10.1038/s43016-024-00929-8

ผู้เรียบเรียง แก้วนภา โพธิ  นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ