น้ำแข็งสีเขียวมรกต ช่วยส่งสารอาหารจำเป็นให้สายใยอาหารในท้องทะเล
ในที่สุด นักวิทยาศาสตร์ก็หาคำตอบได้ว่า สาเหตุที่ภูเขาน้ำแข็งบางก้อนมีสีเขียวเกิดจากออกไซด์ของเหล็ก
ส่วนใหญ่แล้ว ภูเขาน้ำแข็งจะปรากฏเป็นสีขาว เพราะแสงสะท้อนกับฟองอากาศภายในก้อนน้ำแข็ง แต่น้ำแข็งบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นน้ำแข็งที่ไม่มีฟองอากาศจะก่อตัวด้านล่างของภูเขาน้ำแข็ง จะปรากฏเป็นสีน้ำเงินเพราะมันดูดซับความยาวคลื่นแสงที่ยาวกว่าไว้ (ได้แก่สีโทนร้อน เช่น สีแดงและสีส้ม) และสะท้อนความยาวคลื่นแสงที่สั้นกว่า
(สีโทนเย็น)
ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1930 ภูเขาน้ำแข็งใต้น้ำสีเขียวอันลึกลับ รอบๆ ทวีปแอนตาร์กติกา ได้รับฉายาว่า “ภูเขาน้ำแข็งมรกต”
ช่วงต้นทศวรรษ 1990 สตีเฟน วอร์เรน นักวิทยาธารน้ำแข็ง และทีมงาน จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในเมืองซีแอทเทิล เสนอว่า สีเขียวมาจากอนุภาคคาร์บอนขนาดเล็กของสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว เมื่อรวมเข้ากับน้ำแข็งอนุภาคคาร์บอนสีเหลือง จะดูดซับแสงสีน้ำเงิน และให้แสงสีเขียวสะท้อนออกมา แต่การทดลองในภายหลังพบว่าปริมาณของคาร์บอนในภูเขาน้ำแข็งสีเขียวนั้นต่ำเกินไปที่จะสร้างเฉดสีมรกต
ในปี ค.ศ. 2016 นักวิจัยค้นพบเหล็กออกไซด์ในตัวอย่างน้ำแข็งสีเขียวจากบริเวณชะง่อนหินอะเมอร์รี่ (Amery ice shelf) ในทวีปแอนตาร์กติกา ที่ถูกเก็บรักษาไว้หลายสิบปี เหล็กออกไซด์ดังกล่าวสะท้อนสีแดงและส้ม แต่ดูดซับแสงสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นไปได้ว่า อนุภาคเหล่านี้มาจากก้อนหินที่ถูกทับถมด้วยน้ำหนักและแรงเสียดทานของธารน้ำแข็งที่ไหลลงสู่มหาสมุทรรวมเข้ากับน้ำแข็งที่ก่อตัวใต้ท้องทะเลทำให้เกิดสีเขียวสดใส โดยวอร์เรน และทีมงานเสนอรายงานวิจัยในวารสารวิจัยธรณีฟิสิกส์ ฉบับ มหาสมุทร ในวันที่ 4 มีนาคม
วอร์เรนหวังที่จะกลับไปที่ทวีปแอนตาร์กติกาอีกครั้ง เพื่อเก็บตัวอย่างและดูว่า ภูเขาน้ำแข็งสีมรกตนั้น อุดมไปด้วยธาตุเหล็กหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะคลายปริศนาพร้อมกับนำเสนอที่มาของน้ำแข็งอันแปลกประหลาดนี้ได้ ถึงแม้การเดินทางไปทวีปแอนตาร์กติกาจะยากลำบาก แต่สารอาหารที่จำเป็นต่อแพลงก์ตอนขนาดเล็ก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของสายใยอาหารของสัตว์ทะเลในมหาสมุทร ก็ขึ้นอยู่กับการเดินทางในครั้งนี้
อ้างอิง: https://www.sciencenews.org/article/green-icebergs-antarctica-iron
เรียบเรียงโดย : นายชาญวุฒิ ศรีผึ้ง