ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา The Humane Society International (HSI) องค์กรไม่แสวงผลกำไรซึ่งให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพ และต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ระดับโลก ได้เผยแพร่ภาพยนตร์สั้น “Save Ralph” ที่บอกเล่าชีวิตของกระต่ายในห้องทดลอง ลงในแพลตฟอร์ม “YouTube”
Save Ralph นำเสนอเรื่องราวการทดลองในสัตว์ (Animal Testing) เช่น การหยดสารเคมีลงในตาและหู การหยด และทาสารเคมีลงบนผิวหนังสัตว์ และอาจรวมถึงการใช้วิธีการที่โหดร้ายอย่างการฉีดหรือกรอกสารเข้าสู่สัตว์ ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องสำอางที่นำไปทดลองกับสัตว์นี้ จะปลอดภัยต่อมนุษย์มากที่สุด โดยอีกด้านหนึ่งเบื้องหลังการทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเหล่านี้ ต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวดของสัตว์ทดลอง ที่บางตัวต้องพิการ และบางตัวก็ตายอย่างทุกข์ทรมาน
ข้อมูลของ HIS ระบุว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 มีการนำสัตว์มาใช้ทดสอบผลิตภัณฑ์ เช่น หนู กระต่าย และสุนัข โดยเฉพาะเครื่องสำอาง และยา ปีละประมาณ 115 ล้านตัว นั่นหมายความว่าตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เราทุกคนล้วนมีส่วนในการสนับสนุนการทารุณกรรมสัตว์ทดลองเกือบ 5,000 ล้านตัว ถึงแม้ว่า ในปี ค.ศ. 2013 จะมีการรณรงค์ยุติการใช้สัตว์ทดลองโดยเริ่มพัฒนาวิธีทดสอบการระคายเคืองโดยไม่ต้องใช้สัตว์ทดลอง เช่น การทดสอบในเนื้อเยื่อเพาะเลี้ยง แต่การทดสอบในสัตว์ก็ยังคงมีอยู่
ภาพยนตร์สั้น Save Ralph ใช้เทคนิคการถ่ายทำแบบสต๊อปโมชัน (Stop Motion) โดยนำภาพนิ่งมาเรียงต่อกันทีละภาพจนได้ภาพเคลื่อนไหว ด้วยรูปแบบการเล่าเรื่องแบบมานุษยรูปนิยม (Anthropomophism) ที่สัตว์สามารถแสดงท่าทาง อารมณ์ และพูดแบบมนุษย์ ซึ่งช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์สมองกระจกเงา (Mirror Neurons) ที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าอันเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของมนุษย์ เช่น การมองเห็น การได้ยิน ได้มากกว่าปกติ ด้วยเหตุนี้ทำให้ Save Ralph ได้รับความสนใจ และถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็วจนเกิดแฮชแท็ก #SaveRalph เพื่อช่วยปลุกกระแสยุติการทดลองกับสัตว์ทั่วโลก
แม้จะใช้เวลาฉายเพียง 4 นาที แต่ Save Ralph สามารถเป็นกระบอกเสียงถ่ายทอดความเจ็บปวดของสัตว์ทดลองที่บีบคั้นความรู้สึกของผู้คนทั่วโลก และปลุกให้ผู้บริโภคร่วมรณรงค์ยุติการใช้สัตว์ในการทดสอบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งนี้เราสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ยุติการทดสอบผลิตภัณฑ์ในสัตว์โดยสังเกตจากเครื่องหมายบนผลิตภัณฑ์ และร่วมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เพราะทุกชีวิตบนโลกนี้ล้วนมีคุณค่า และไม่ควรมีชีวิตใดต้องตายเพื่อความงามของมนุษย์อีกต่อไป
ภาพ เครื่องหมายที่ใช้ในการสังเกตเพื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ยุติการทดสอบผลิตภัณฑ์ในสัตว์
(http://www.humanedecisions.com/cruelty-free-shopping-guide/)
เรียบเรียงโดย: ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
แหล่งที่มา:
Facts and figures on animal testing. [ออนไลน์], 2564, https://www.crueltyfreeinternational.org/why-we-do-it/facts-and-figures-animal-testing [28 เมษายน 2564]
Animal Testing. [ออนไลน์], 2564, https://www.hsi.org/issues/animal-testing/ [28 เมษายน 2564]
Be Cruelty-Free Campaign, [ออนไลน์], 2564, https://www.hsi.org/issues/be-cruelty-free/ [28 เมษายน 2564]