นักวิจัยพัฒนาแบคทีเรียที่ย่อยพลาสติกได้เพื่อผลิตพลาสติกชีวภาพชนิดใหม่คุณสมบัติคล้ายใยแมงมุม
เว็บไซด์ Salika รายงานข่าวเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ถึงงานวิจัยของ Rensselaer Polytechnic Institute (RPI) ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ตัดต่อพันธุกรรมแบคทีเรีย Pseudomonas aeruginosa ที่สามารถย่อยพลาสติกได้เป็นทุนเดิมอยู่แล้วให้ย่อยขยะพลาสติกประเภทโพลีเอทิลีนแล้วได้ผลิตผลเป็นเส้นใยโปรตีนที่มีลักษณะคล้ายใยแมงมุมมีคุณสมบัติแข็งแกร่งใกล้เคียงเหล็ก แต่เบากว่า มีความเหนียวและยืดหยุ่น ที่สำคัญคือ ปลอดสารพิษและย่อยสลายได้ เหมาะกับการนำไปใช้เป็นองค์ประกอบในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้หลายประเภท เช่น ผ้าไหม เครื่องสำอาง ยารักษาโรค โดยทีมวิจัยเริ่มนำมาทดลองผลิตเป็นผ้าไหมก่อนเป็นลำดับแรก
นักวิจัยเชื่อว่างานวิจัยดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการจัดการปัญหาขยะพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกใช้แล้วทิ้งหรือsingle use ที่ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกโพลีเอทิลีนและสร้างปัญหาขยะจำนวนมหาศาลที่โลกต้องหาทางรับมือ นอกจากนี้ยังถือเป็นการคิดค้นวัสดุใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ทั้งนี้ทีมวิจัยยังต้องพัฒนาในส่วนของการผลิตเส้นใยโปรตีนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก
แหล่งที่มาของข่าว https://www.salika.co/2024/02/08/bacteria-eat-plastic-turn-trash-to-silk/
เรียบเรียงโดย วารี อัศวเกียรติรักษา นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ