เปลือกล็อบสเตอร์ ทางเลือกใหม่ของโลกเพื่อลดปัญหาขยะพลาสติก

เปลือกล็อบสเตอร์ ทางเลือกใหม่ของโลกเพื่อลดปัญหาขยะพลาสติก

29-04-2022
เปลือกล็อบสเตอร์ ทางเลือกใหม่ของโลกเพื่อลดปัญหาขยะพลาสติก

บริษัทสตาร์ทอัพประเทศอังกฤษ คิดหาวิธีนำเปลือกกุ้งล็อบสเตอร์มาใช้ทดแทนพลาสติกเพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก
โดยไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม

     มลภาวะพลาสติกในมหาสมุทรโลกได้กลายเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน การแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลจึงต้องเริ่มจากการลด หรือหาวัสดุอื่นมาทดแทน ล่าสุด บริษัทสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้คิดค้นการแก้ปัญหานี้ ด้วยการนำเปลือกของกุ้งล็อบสเตอร์มาทดแทนพลาสติกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ที่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ

     ทีมวิจัยจากบริษัท Shellworks ใช้เปลือกของกุ้งล็อบสเตอร์ มาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพ เพราะในเปลือกกุ้งล็อบสเตอร์มีสารพอลิเมอร์ชีวภาพที่เรียกว่า ไคติน (Chitin) เป็นองค์ประกอบสูงมาก สามารถนำมาพัฒนาเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้และยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกด้วย จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดปัญหามลภาวะจากการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง อินซิยา แจฟเฟอร์จี หนึ่งในทีมวิจัย บอกว่า ที่เลือกใช้เปลือกกุ้งล็อบสเตอร์ในการผลิตพลาสติก เพราะเปลือกกุ้งล็อบสเตอร์มีปริมาณไคตินสูงถึง 30% - 40% ส่วนกระบวนการผลิต ขั้นแรกเริ่มจากการนำเปลือกล็อบสเตอร์มาปั่นให้เป็นผงและย่อยสลายต่อโดยใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ เพื่อสกัดเอาไคตินออกมา ไคตินจะถูกนำไปทำปฏิกิริยากับสารละลายกรดเบส จนได้เป็นผงไคโตซาน ที่ได้มาผสมกับน้ำส้มสายชู จนได้สารละลายพลาสติกชีวภาพ ซึ่งสามารถนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์สามมิติ เช่น ถุงพลาสติก ได้

     อามีร์ อัฟชาร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Shellworks บอกว่า พลาสติกชีวภาพจากเปลือกกุ้งล็อบสเตอร์ มีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถต้านทานเชื้อราและแบคทีเรียได้ จึงเป็นวัสดุที่น่าสนใจมากสำหรับนำไปใช้บรรจุอาหาร นอกจากนี้ ยังคุณสมบัติที่สำคัญ คือ สามารถย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยได้ โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับนำมาทดแทนพลาสติกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน "คุณแค่ตัดมันเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วโยนลงกระถางต้นไม้ให้เป็นปุ๋ย" อัฟชาร์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แม้บรรดานักวิจัยจะหวังว่าในอนาคตจะมีการใช้พลาสติกชีวภาพผลิตช้อนส้อมแบบใช้แล้วทิ้งแพร่หลายขึ้น แต่บางคนบอกว่าเราอาจจะไม่ได้เห็นถุงพลาสติกจากกุ้งล็อบสเตอร์ในเร็ว ๆ นี้ เพราะกระบวนการผลิตนั้นมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับพลาสติกที่ผลิตในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

     ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ในแต่ละปีชาวโลกใช้ถุงพลาสติกราว 5 แสนล้านใบ และพลาสติกที่รั่วไหลสู่ทะเลอย่างน้อย 8 ล้านตัน กำลังคุกคามสัตว์ทะเล ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ภายในปี 2050 มหาสมุทรจะมีพลาสติกมากกว่าประชากรปลาทั้งหมด

ภาพจาก :
https://www.shutterstock.com/th/image-photo/red-lobster-aquarium-viewed-through-glass-630123449?src=-SMf6I5rrz4ik2YA2973zw-1-35 (Stock photo ID : 630123449)

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ อพวช. รายงาน

Link ที่เกี่ยวข้อง :
https://www.euronews.com/2019/04/05/watch-london-start-up-turns-lobster-shells-into-plastic-alternative

https://www.bbc.com/thai/features-47998198

ผู้เขียน : นายชนินทร์ สาริกภูติ
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม