หลายคนอาจเคยเห็นข้อความแชร์กันว่าโควิด-19 (COVID-19) สามารถติดต่อกันโดยการแพร่ผ่านทางอากาศ (Airborne) อีกทั้งยังมีข้อความเตือนให้ระวังเชื้อไวรัสที่อาจลอยปนเปื้อนอยู่ในอากาศได้ ความจริงในเรื่องนี้เป็นอย่างไร
ล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนบรรดาบุคลากรทางการแพทย์ว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ สาเหตุโรคโควิด-19 (COVID-19) สามารถมีชีวิตอยู่ในอากาศได้นานกว่าที่มีการคาดการณ์กันไว้ จึงควรเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น
ไวรัสจะแพร่กระจายผ่านทางละอองฝอยขนาดใหญ่ หรือของเหลวที่มีขนาดเล็กจากการจามหรือการไอ แพทย์หญิงมาเรีย แวน เคอร์คอฟ (Maria Van Kerkhove) หัวหน้าหน่วยโรคอุบัติใหม่และโรคติดต่อขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2563 ว่า “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สามารถแพร่กระจายผ่านทางละอองลอย (Aerosol) ได้ ซึ่งละอองลอยนี้คือละอองของน้ำที่มีขนาดเล็กยิ่งกว่าละอองฝอย สามารถล่องลอยอยู่ในอากาศได้ยาวนาน และเคลื่อนที่ไปได้ไกลกว่าละอองฝอยขนาดใหญ่ นั่นทำให้ไวรัสที่ปนออกมากับละอองลอยเหล่านี้ อยู่ในอากาศได้นานและลอยไปได้ไกลมากขึ้น จึงเพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายของการระบาดมากขึ้น ละอองลอยอาจเกิดขึ้นระหว่างทำการรักษา หรือการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์บางประเภท เช่น การพ่นยา หรือการใส่ท่อช่วยหายใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่บุคลากรทางการแพทย์ ต้องเพิ่มความระมัดระวัง เมื่อต้องทำงานอยู่ใกล้ชิดและให้การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19”
แพทย์หญิง เคอร์คอฟ ระบุว่า การแพร่กระจายของโรคระบบทางเดินหายใจจากมนุษย์สู่มนุษย์ จะเกิดขึ้นผ่านทางละอองฝอย (Droplets) จากการจามและไอ และการสัมผัสกับเชื้อไวรัสที่อยู่บนเครื่องมือเครื่องใช้ ส่วนไวรัสโคโรนาสามารถแพร่ผ่านทางอากาศและอยู่ในอากาศได้นานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยความร้อนและความชื้น
แพทย์หญิง เคอร์คอฟ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเองรับรู้เกี่ยวกับผลการศึกษา ที่พุ่งเป้าไปที่สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไปที่ทำให้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จะสามารถคงอยู่ได้นั่นคือ ความชื้น อุณหภูมิ และรังสีอัลตราไวโอเลต มีผลต่อโรคอย่างไร และสามารถอยู่บนพื้นผิวได้นานเท่าใด พร้อมแนะนำให้บุคลากรทางการแพทย์สวมใส่หน้ากาก N95 เพราะสามารถกรองของเหลวหรืออนุภาคในอากาศได้ประมาณ 95% และในการให้บริการทางการแพทย์ ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ให้บริการทางการแพทย์ได้ดำเนินการรักษาตามมาตรฐานการระวังเชื้อแพร่กระจายแบบล่องลอยไปในอากาศและต้องเพิ่มความระมัดระวังในการรักษาที่ต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ก่อให้เกิดละอองลอย (Aerosol)
โรเบิร์ต เรดฟิลด์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) กล่าวในที่ประชุม เมื่อเดือนที่แล้วว่า ไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 (COVID-19) สามารถอยู่รอดได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนพื้นผิว โดยบนพื้นผิวของทองแดงและเหล็ก โดยไวรัสโคโรนาจะมีชีวิตได้ประมาณชั่วโมง แต่บนพื้นผิวชนิดอื่น เช่น กระดาษแข็งหรือพลาสติก ไวรัสโคโรนาจะมีชีวิตอยู่ได้นานกว่านั้น ซึ่งเรากำลังค้นหาอยู่ อีกทั้งการติดเชื้อจากพื้นผิวเกิดขึ้นได้มากกว่าการติดเชื้อผ่านทางอากาศซึ่งอาจมีส่วนสัมพันธ์กับการระบาดของโรคบนเรือสำราญไดมอนด์ พรินเซส
ดร. เทดรอส อัดฮานอม กีห์บรีย์เยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) อธิบดีองค์การอนามัยโลก กล่าวว่าจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เรากลับไม่เห็นว่า จะมีการเพิ่มการทดสอบ แยกกักตัว รวมถึงหาสาเหตุของการติดต่อ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการรับมือกับโรคอย่างเพียงพอ
ดร. กีห์บรีย์เยซุส กล่าวว่า เรามีข้อความง่ายๆ สำหรับทุกประเทศ : ทดสอบ ทดสอบ ทดสอบ ทดสอบทุกกรณี ถ้าผลทดสอบเป็นบวก ให้แยกพวกเขาและหาผู้ที่พวกเขาได้ไปติดต่อมาก่อนหน้านี้สองวัน ก่อนที่พวกเขาจะมีอาการและทดสอบการติดเชื้อคนเหล่านั้นด้วย
การป้องกันการติดโรคโควิด-19 ได้ดีที่สุดในเวลานี้ คงหนีไม่พ้นการดูแลสุขภาพและร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนส่วนตัว ล้างมือ” สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า รวมถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม ก็จะช่วยให้เรารอดพ้นจากการติดเชื้อไวรัสนี้ไปได้
ภาพจาก :
https://www.freepik.com/
ที่มา :
CNBC. https://www.cnbc.com/2020/03/16/who-considers-airborne-precautions-for-medical-staff-after-study-shows-coronavirus-can-survive-in-air.html [24 มีนาคม 2563]
คำค้น : ไวรัสโคโรนา, โควิด-19, ละอองฝอย (Droplets), ละอองที่มีขนาดเล็ก (Aerosol)
ผู้แปลและเรียบเรียง : ดร. ชนินทร์ สาริกภูติ นักวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม นักวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.