มลพิษทางอากาศส่งผลทางพันธุกรรม

มลพิษทางอากาศส่งผลทางพันธุกรรม

29-04-2022
มลพิษทางอากาศส่งผลทางพันธุกรรม

          การวิจัยล่าสุดพบมลพิษทางอากาศส่งผลกระทบในระดับยีน ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง และโรคอื่น ๆ ทั้งยังสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปสู่รุ่นลูกได้รายงานผลการศึกษาความเชื่อมโยงของมลพิษทางอากาศกับการเปลี่ยนแปลงของยีนภูมิคุ้มกันในวัยเด็ก โดยคณะนักวิจัยจากสหรัฐอเมริกา และเบลเยียม ได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสาร Nature Scientific Reports เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ถือเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาผลกระทบของมลพิษทางอากาศในระดับเซลล์โดยมุ่งเน้นไปที่ระบบหัวใจ/หลอดเลือดและระบบภูมิคุ้มกันควบคู่ไปด้วยกันในกลุ่มเด็กช่วงอายุ 6 – 8 ปี จากกลุ่มตัวอย่าง 221 คนที่อาศัยอยู่ในเมืองเฟรสโนแคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยมลพิษทางอากาศ (PM2.5 คาร์บอนมอนอกไซด์ และโอโซน) ที่สูงที่สุดของสหรัฐอเมริกา

          รายงานเปิดเผยให้เห็นผลกระทบที่รุนแรงมากกว่าการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ หากแต่ยังไปเปลี่ยนแปลงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในระดับยีนอีกด้วยซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มีโอกาสส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งที่สามารถถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูกได้ การศึกษานี้นอกจากจะช่วยยืนยันผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพของประชาชนทั่วโลกในระยะยาวและส่งผลทางพันธุกรรมได้แล้ว ยังช่วยให้กุมารแพทย์รวมทั้งอายุรแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากขึ้น โดยพิจารณาผลการเปลี่ยนแปลงในระดับยีนเข้าไปด้วย

 shutterstock 1301893777 2

 

ผู้เขียน ศักดิ์ชัย จวนงาม

ศูนย์ข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ อพวช.

ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference)

Prunicki, M., Cauwenberghs, N., Lee, J. et al. Air pollution exposure is linked with methylation of immunoregulatory genes, altered immune cell profiles, and increased

blood pressure in children. Sci Rep 11, 4067 (2021). https://doi.org/10.1038/s41598-021-83577-3

Rob Jordan., Air pollution puts children at higher risk of disease in adulthood., Science Daily. Feb 22, 2021. https://www.sciencedaily.com/releases/2021/02/210222124613.htm