เฝ้าระวังไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ “โอไมครอน”

เฝ้าระวังไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ “โอไมครอน”

30-04-2022
เฝ้าระวังไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ “โอไมครอน”

www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/how-south-african-scientists-spotted-omicron-covid-variant-2021-11-30/

26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 กลายพันธุ์ โอไมครอน (Omicron) ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในระดับน่าวิตกกังวล (Variant of Concern : VOC) เช่นเดียวกับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 สายพันธุ์แอลฟา (Alpha) เบตา (Beta) แกมมา (Gamma) และเดลตา (Delta)

ไวรัสโคโรนากลายพันธุ์โอไมครอน หรือ B 1.1.529 ถูกพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่จังหวัดกัวเตง (Gauteng) ประเทศแอฟริกาใต้ (South Africa) โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มจาก 77 คน เป็น 2,800 คน ภายในเวลา 1 สัปดาห์ และยังพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ดังกล่าวซึ่งมีประวัติการเดินทางกลับจากประเทศแอฟริกาใต้ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย อิสราเอล และฮ่องกง

จากการศึกษาเบื้องต้นของนักวิทยาศาสตร์ในประเทศแอฟริกาใต้พบว่า ไวรัสโคโรนากลายพันธุ์โอไมครอนมีการกลายพันธุ์ของยีนมากถึง 50 ตำแหน่ง โดยเป็นการกลายพันธุ์ที่โปรตีนบนส่วนหนาม (Spike protein) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของวัคซีนโควิด 19 ถึง 32 ตำแหน่ง ที่อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง ทั้งนี้ยังพบว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 กลายพันธุ์โอไมครอนมีตำแหน่งกลายพันธุ์เช่นเดียวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่นที่ถูกจัดให้อยู่ในระดับน่าวิตกกังวลถึง 9 ตำแหน่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความรวดเร็วในการแพร่กระจายของเชื้อ

นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังได้ให้ข้อมูลว่าการวินิจฉัยโรคโควิด 19 ด้วยเทคนิค RT-PCR ยังสามารถใช้ตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 กลายพันธุ์โอไมครอนได้ เพียงแต่ในบางห้องปฏิบัติการอาจไม่สามารถตรวจพบยีนของโปรตีนบนส่วนหนาม (S gene) หรือ S gene target failure (SGTF) เนื่องจากการกลายพันธุ์ของโปรตีนบนส่วนหนาม แต่ยังสามารถวินิจฉัยจากยีนในส่วนอื่นของไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าวได้

ขณะนี้ต่างประเทศได้กำหนดนโยบายเฝ้าระวังนักเดินทางจากประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีรายงานผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน เช่น แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย บอสวานา เป็นต้น ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 กลายพันธุ์โอไมครอนที่อาจแฝงมากับคนเหล่านี้ จึงต้องสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีเมื่ออยู่ท่ามกลางผู้คน งดการเดินทางไปในสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และรับวัคซีนโควิด 19 เพื่อลดการระบาดของโรคโควิด 19 ทุกสายพันธุ์

 

เรียบรียงโดย: ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

แหล่งข้อมูล:
Classification of Omicron (B 1.1.529): SARS-CoV-2 Variant of Concern. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://www.who.int/news/item/26-11-2021-classification-of-omicron-(b.1.1.529)-sars-cov-2-variant-of-concern [2 ธันวาคม 2564]
Update on Omicron. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://www.who.int/news/item/28-11-2021-update-on-omicron [2 ธันวาคม 2564]
New Covid variant: How worried should we be? [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://www.bbc.com/news/health-59418127 [2 ธันวาคม 2564]
How South African scientists spotted the Omicron COVID variant. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/how-south-african-scientists-spotted-omicron-covid-variant-2021-11-30/ [2 ธันวาคม 2564]