สาหร่ายสีแดง อาหารสัตว์ทางเลือก ลดโลกร้อน

สาหร่ายสีแดง อาหารสัตว์ทางเลือก ลดโลกร้อน

29-04-2022
สาหร่ายสีแดง อาหารสัตว์ทางเลือก ลดโลกร้อน

Photo by //unsplash.com/@ryansong?utm_source=unsplash&utm_medium=referral&;utm_content=creditCopyText">Ryan Song on Unsplash

ก๊าซมีเทน (Methane: CH4) เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide: CO2) ถึง 25 เท่า โดยร้อยละ 14.5 ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น จากการทำฟาร์มปศุสัตว์ เช่น วัว เป็นต้น การเลี้ยงวัวส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนได้อย่างไร มีคำอธิบายว่า จุลลินทรีย์ในกลุ่มอาร์เคีย (Archaea) กลุ่มเมทาโนเจน (Methanogen) ที่อาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารส่วนต้นในตัววัว หรือที่เรียกว่า กระเพาะผ้าขี้ริ้ว หรือ รูเมน (Rumen) จะทำหน้าที่ย่อยเส้นใยพืช กระบวนการย่อยนี้ทำให้เกิดก๊าซมีเทน และก๊าซมีเทนเหล่านี้จะถูกปลดปล่อยออกมาจากการเรอ ลมหายใจ เหงื่อ รวมถึงมูลที่วัวขับถ่ายออกมาก็ยังเกิดการหมักหมมปลดปล่อยก๊าซมีเทนจำนวนมาก

เดือนมีนาคมปี พ.ศ. 2564 มีการเผยแพร่งานวิจัยที่พบว่าการให้อาหารเสริมสาหร่ายสีแดง (Asparagopsis taxiformis) กับวัวเนื้อ จะช่วยลดการผลิตก๊าซมีเทนได้ถึงร้อยละ 80 เนื่องจากสาหร่ายแดงมีสารประกอบ โบรโมฟอร์ม (Bromoform : CHBr3) ที่ช่วยยับยั้งกระบวนการผลิตก๊าซมีเทนในจุลลินทรีย์เมทาโนเจน โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับสัตว์ ไม่ส่งผลต่อคุณภาพ และรสชาติของเนื้อ อีกทั้งไม่พบสารโบรโมฟอร์มตกค้างเกินมาตรฐานอีกด้วย ผู้สนับสนุนงานวิจัยบริษัท Future Feed ได้เสนอไว้บนเวปไซต์ว่า หากเกษตรกรผู้ประกอบกิจการฟาร์มปศุสัตว์เพียงร้อยละ 10 ของทั้งหมด เสริมสาหร่ายสีแดงปริมาณร้อยละ 1 ลงในอาหารสัตว์จะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับการลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนถึงร้อยล้านคัน

จากการศึกษาองค์ประกอบของอาหารสัตว์ในอดีตพบว่ามีส่วนประกอบของสารสังเคราะห์ ไขมันและน้ำมัน หรือวัตถุดิบจากธรรมชาติมากมาย โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะซึ่งจะตกค้างในผลิตภัณฑ์ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคจึงมีการกำกับโดยภาครัฐอย่างเข้มงวด ทำให้วัตถุดิบจากธรรมชาติอย่างสาหร่ายสีแดงกลายเป็นทางเลือกในการเสริมอาหารสัตว์เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ อย่างไรก็ตามมีนักวิชาการบางคนกังวลเรื่องสารโบรโมฟอร์ม ที่มีคุณสมบัติทำลายชั้นโอโซนในระยะสั้น ซึ่งอาจส่งผลให้รังสียูวีบี (UV-B) ลอดผ่านลงมาสู่พื้นผิวโลกเพิ่มขึ้น จึงได้มีการเรียกร้องให้ทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของสาหร่ายสีแดงที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนจะมีการนำมาประยุกต์ใช้จริงในอนาคต

เรียบเรียงโดย นุชจริม เย็นทรวง กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)

แหล่งที่มา
Cows fed small amount of seaweed burp 86 per cent less methane in trial. [ออนไลน์] 2564, https://www.abc.net.au/news/science/2021-03-18/cows-fed-seaweed-methane-emissions-reduced-82-per-cent/13253102 [24 มีนาคม 2564]
Carbon farming: reducing methane emissions from cattle using feed additives. https://www.agric.wa.gov.au/climate-change/carbon-farming-reducing-methane-emissions-cattle-using-feed-additives [25 มีนาคม 2564]
FutureFeed (future-feed.com) [25 มีนาคม 2564]