ระวังให้ดีเจ้าแมลงตัวน้อย! พืชกินสัตว์ชนิดใหม่กำลังจะจับพวกเธอกิน!

ระวังให้ดีเจ้าแมลงตัวน้อย! พืชกินสัตว์ชนิดใหม่กำลังจะจับพวกเธอกิน!

29-04-2022
ระวังให้ดีเจ้าแมลงตัวน้อย! พืชกินสัตว์ชนิดใหม่กำลังจะจับพวกเธอกิน!

Triantha occidentalis ที่พบในอุทยานไซเปรสโพรวินเชี่ยลพาร์ค บริทิชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา

         พืชกินสัตว์ (Carnivorous plant) หรือที่เรามักเรียกติดปากกันว่าพืชกินแมลง (Insectivorous plant) มักจะพบเจริญเติบโตในพื้นที่ที่มีธาตุอาหารต่ำและปัจจัยสภาพแวดล้อมที่จำกัด พืชกลุ่มนี้นอกจากจะดูดซึมไนโตรเจนผ่านทางดินได้แล้ว ยังมีความสามารถในการจับเหยื่อซึ่งโดยทั่วไปเป็นแมลงขนาดเล็กและรับไนโตรเจนจากการย่อยสลายเหยื่อได้อีกด้วย ปัจจุบันมีการรายงานพืชกินสัตว์มากกว่า 600 ชนิดจากกว่า 12 สกุลซึ่งแต่ละชนิดจะมีกลไกกับดักสำหรับจับเหยื่อที่ต่างกันไป ได้แก่ กับดักแบบหลุมพรางกับดักแบบกระดาษเหนียว และกับดักแบบตะครุบ เป็นต้น

         ก้านที่แสนบอบบางและดอกสีขาวแสนสวยของ Triantha occidentalis อาจดึงดูดใจแมลงตัวน้อย แต่ถ้าไม่ระวังให้ดีแมลงน้อยเหล่านี้ก็จะติดอยู่ในขนตุ่มเหนียวเล็กๆที่ซ่อนอยู่ในพืชแสนสวยจนดิ้นไม่หลุดและตายลงในที่สุดพร้อมกับถูกดูดกินสารอาหารจากร่างกายอย่างช้าๆ นี่คือกลไกกับดักของพืชกินสัตว์ชนิดนี้ที่ถูกค้นพบล่าสุดในรอบ 20 ปี โดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริทิชโคลัมเบียและมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ตามที่ปรากฏใน Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS)

          “พืชกินสัตว์ถูกค้นพบมาตั้งแต่ยุควิคตอเรียน สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้คนเสมอ เพราะมันค้านกับความเชื่อดั้งเดิมที่ว่าพืชจะถูกกินโดยสัตว์ตามลำดับห่วงโซ่อาหาร และพวกเราตื่นเต้นเป็นอย่างมากกับการค้นพบพืชกินสัตว์ชนิดใหม่ใกล้ตัวแถวชายฝั่งตะวันตกในสวนหลังบ้านของพวกเรานี่เอง” ศาสตราจารย์ฌอน กราแฮม จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลับบริทิชโคลัมเบีย กล่าว

          ไทรแอนธา (Triantha) เติบโตได้ดีในบริเวณที่มีธาตุอาหารต่ำแต่แสงสว่างส่องถึงในชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือจากแคลิฟอร์เนียถึงอลาสก้า สำหรับการวิจัยครั้งนี้ นักวิจัยศึกษาไทรแอนธาที่พบบนเขาไซเปรสในนอร์ธ แวนคูเวอร์ บริทิชโคลัมเบีย

          ดร. ควานซี ลิน นักศึกษาระดับปริญญาเอกจากภาควิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลับบริทิชโคลัมเบียกล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจของพืชกินสัตว์คือกลไกกับดักแมลงที่มักจะอยู่ใกล้กับดอกที่เต็มไปด้วยละอองเกสร เป็นความขัดแย้งอย่างแท้จริงที่พืชต้องอาศัยแมลงในการช่วยกระจายละอองเกสรแต่ก็ต้องการดักจับแมลงนั้นเป็นอาหารเช่นกัน

          ศาสตราจารย์ทอม กิฟนิชจากภาควิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน กล่าวเสริมว่า สิ่งที่ทำให้ไทรแอนธาสร้างความสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์จากแมลงในการผสมเกสรกับการจับแมลงเป็นอาหารคือขนตุ่มเหนียวขนาดเล็กๆ (sticky granular hairs) ที่ไม่ได้เหนียวจนเกินไปนักจึงจับได้เฉพาะแมลงที่มีขนาดเล็กมาก สำหรับแมลงขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่เป็นผู้ช่วยผสมเกสรอย่างผีเสื้อและผึ้งจะถูกปล่อยไป นอกจากนี้ศาสตราจารย์ทอมยังพบว่าไทรแอนธายังขาดยีนจำเพาะดังเช่นที่พืชกินสัตว์ชนิดอื่นก็ขาดยีนจำเพาะนี้เช่นกัน

          เพื่อตอบข้อสงสัยที่ว่าพืชกินสัตว์ชนิดใหม่นี้มีความจำเป็นที่ต้องกินแมลงแค่ไหน ดร.ลินได้นำแมลงวันที่ถูกเติมด้วยไนโตรเจน-15 ไอโซโทปวางลงบนก้านของไทรแอนธา โดยไนโตรเจน-15 ไอโซโทปจะถูกติดตามว่าเส้นทางการลำเลียงไนโตรเจนจากแมลงวันไปยังพืชผ่านการดูดซึมเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ดร.ลิน ยังได้เปรียบเทียบผลการทดลองลักษณะเดียวกันกับที่ทำในพืชกินสัตว์ชนิดอื่นที่พบในบริเวณเดียวกันอย่างต้นหยาดน้ำค้างหรือ sundew และยังมีพืชที่ไม่ใช่พืชกินแมลงอีกหลายชนิดเป็นกลุ่มควบคุมอีกด้วย จากการวิเคราะห์ไอโซโทปพบว่า ไทรแอนธาสามารถดูดซึมไนโตรเจนจากแมลงวันได้มากกว่าครึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับที่เกิดขึ้นในต้นหยาดน้ำค้างและพืชกลุ่มควบคุมชนิดอื่น นอกจากนี้ยังพบว่าขนตุ่มเหนียวเล็กๆบนก้านดอกไทรแอนธาสามารถสร้างเอนไซม์ฟอสฟาเตสซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ช่วยในการดูดซึมฟอสเฟตจากเหยื่อ อย่างที่พบในพืชกินสัตว์หลายชนิด

 

Picture3

Triantha occidentalis จากอุทยานแห่งชาตินอร์ธแคสเคด วอชิงตัน แสดงขนตุ่มเหนียวเล็กๆที่ช่วยจับแมลง

          การค้นพบพืชกินสัตว์ชนิดใหม่อย่างไทรแอนธาจากพื้นที่รอบตัวย่านที่อยู่อาศัยอย่างในทางตะวันตกของแคนาดาและชายฝั่งแปซิฟิกของอเมริกา กระตุ้นความสนใจถึงระบบนิเวศและเรื่องน่าประหลาดใจในธรรมชาติที่ยังรอให้ไปศึกษาและค้นพบอีกมากมาย เพราะแม้แต่พื้นที่รอบตัวที่เราคุ้นเคยและคิดว่ารู้จักดีแล้วก็ยังสามารถสร้างความประหลาดใจให้เราได้เสมอ

          อย่างไรก็ตาม หากคุณสนใจที่จะนำหนังดังในยุค’80 อย่างเรื่อง “ร้านน้อยค่อยๆโหด-Little Shop of Horrors” กลับมาสร้างใหม่ หรือนำไทรแอนธากลับบ้านเพื่อจัดการกับแมลงวันที่น่ารำคาญ นักวิจัยแนะนำว่าต้นไทรแอนธาอาจทำหน้าที่นักล่าแมลงได้ไม่ดีนักถ้าถูกนำออกนอกถิ่นที่อยู่อาศัยของมัน

 

ที่มาของภาพ

https://scitechdaily.com/insects-beware-this-new-carnivorous-plant-wants-to-eat-you/

ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference)

https://scitechdaily.com/insects-beware-this-new-carnivorous-plant-wants-to-eat-you/

https://www.tistr.or.th/tistrblog/wp-content/uploads/2021/03/Carnivorous-plants.pdf

คำค้น (Tags) พืชกินสัตว์ Triantha occidentalis sticky granular hairs แมลงวัน