ออสเตรเลียอ่วม เผชิญภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ไฟป่า พายุฝุ่น และพายุลูกเห็บถล่มหลายพื้นที่ คาดความแปรปรวนทางสภาพภูมิอากาศมาจากภาวะโลกร้อน

ออสเตรเลียอ่วม เผชิญภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ไฟป่า พายุฝุ่น และพายุลูกเห็บถล่มหลายพื้นที่ คาดความแปรปรวนทางสภาพภูมิอากาศมาจากภาวะโลกร้อน

29-04-2022
ออสเตรเลียอ่วม เผชิญภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ไฟป่า พายุฝุ่น และพายุลูกเห็บถล่มหลายพื้นที่ คาดความแปรปรวนทางสภาพภูมิอากาศมาจากภาวะโลกร้อน

เมื่อวันที่ 21 มกราคม เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและพายุลูกเห็บถล่มหลายพื้นที่ทางตอนใต้ของออสเตรเลีย โดยเฉพาะในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ควีนส์แลนด์และวิคตอเรีย โดยลูกเห็บมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเกือบ 5 ซม. หรือขนาดประมาณลูกกอล์ฟ แม้จะเกิดขึ้นเพียง 15 นาที แต่ก็นานพอที่จะสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือน ต้นไม้รถยนต์ และนกเป็นจำนวนมาก บ้านเรือนและอาคารพาณิชย์มากกว่า 20,000 แห่งไม่มีไฟฟ้าใช้ และเส้นทางรถไฟ 2 สายหยุดให้บริการ โดยพายุลูกเห็บนี้เกิดขึ้นภายหลังพายุฝุ่นขนาดยักษ์พัดเข้าถล่มเมืองเพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ทางตะวันออกของรัฐนิวเซาท์เวลส์ถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นจากพายุฝุ่นขนาดยักษ์ที่พัดเข้าปกคลุมทั้งเมือง นักอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลียให้ความเห็นว่า เนื่องจากรัฐนิวเซาท์เวลส์ประสบปัญหาภัยแล้งมาเป็นเวลาหลายปี ทำให้ผิวหน้าดินแห้งและเบา เกิดเป็นอนุภาคฝุ่นได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ทำให้ฝุ่นหน้าดินจำนวนมากถูกพัดไปในอากาศและเกิดพายุฝุ่นขนาดยักษ์ขึ้น

แม้พายุฝนจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของเหตุการณ์ไฟป่าในออสเตรเลียได้ แต่ก็สร้างความลำบากให้กับนักผจญเพลิง รวมทั้งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในบางพื้นที่อีกทั้งเมื่อมาพร้อมกับพายุลูกเห็บที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชน ผู้เชี่ยวชาญของกรมอตุนิยมวิทยาออสเตรเลียกล่าวว่า ขณะนี้พายุลูกเห็บขนาดใหญ่และพายุฝนฟ้าคะนอง กำลังเคลื่อนที่ไปทางตะวันออกทางเมืองซิดนีย์และนิวคาสเซิล เตือนประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวระวังพายุที่มีความเร็วลมสูง ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านให้ความเห็นว่าสภาพอากาศอันเลวร้ายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเกิดไฟป่า พายุฝุ่น และพายุฝนฟ้าคะนองที่ทำให้เกิดพายุลูกเห็บตามมาด้วยนั้น น่าจะมาจากการสะสมของความร้อนและภัยแล้ง ซึ่งเป็นภาวะที่บ่งชี้ว่ากำลังเกิดภาวะวิกฤตด้านสภาวะอากาศอย่างหนักในออสเตรเลีย

ส่วนการเกิดลูกเห็บนั้น มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนพร้อมกับพายุฝนฟ้าคะนองที่มีลมและฝน เนื่องจากความแปรปรวนของสภาพอากาศที่อุณหภูมิภาคพื้นดินและอากาศที่อยู่ข้างบนต่างกันมาก เมื่อมวลอากาศร้อนลอยตัวขึ้นไปปะทะกับมวลอากาศเย็น ไอน้ำจะเกิดการควบแน่นจับกับละอองฝุ่นและควันในอากาศเป็นก้อนน้ำแข็งแล้วตกลงมาเป็นลูกเห็บ หากลูกเห็บถูกกระแสลมพัดวนขึ้นไปบนอากาศและถูกละอองน้ำเกาะที่ผิวเพิ่ม เจอกับอากาศเย็นจัด ขนาดลูกเห็บก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นไปอีกนั่นเอง

ผู้เขียน นางสาวนริศรา บริกุล

ศูนย์ข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ อพวช. 



ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference)
https://edition.cnn.com/2020/01/19/australia/australia-hail-dust-storm-intl-hnk-scli/index.html
https://www.theguardian.com/australia-news/2020/jan/20/severe-thunderstorms-and-hail-to-batter-south-eastern-australia
https://news.thaipbs.or.th/content/288156

ค้นคว้าเพิ่มเติม (แนะนำแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม)
https://www.vox.com/2020/1/15/21065557/australia-fires-climate-change-weather-extreme-heat-drought-flood
https://www.greenpeace.org/thailand/story/10850/climate-emergency-australian-bush-fires/
https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/68148/-blo-sciear-sci-

ที่มาของภาพ https://edition.cnn.com/2020/01/19/australia/australia-hail-dust-storm-intl-hnk-scli/index.html