ฟอสซิลไทรโลไบต์จากเกาะตะรุเตา อุทยานธรณีสตูลระบุประเทศไทยภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคใต้ (แผ่น Sibumasu ของประเทศไทย) ยุคแคมเบรียน-ออร์โดวิเชียนเคยติดกับประเทศออสเตรเลียและจีนตอนเหนือมาก่อน
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 วารสารวิชาการ Paper in Palaeontology เผยแพร่บทความวิชาการเรื่อง Trilobites of Thailand’s Cambrian–Ordovician Tarutao Group and their geological setting เป็นการรายงานการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไทรโลไบต์จากกลุ่มหินตะรุเตา ซึ่งมีความหลากหลายถึง 42 ชนิด โดยมีการค้นพบสกุลใหม่ของโลก 1 สกุล และชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกจำนวน 25 ชนิด ซึ่งทั้งหมดค้นพบที่ อ่าวมอและ อ่าวตะโละโต๊ะโป๊ะ แหลมหินงาม อ่าวตะโละอุดัง และอ่าวพันเตมะละกา ในเขตเกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล โดยกลุ่มหินตะรุเตาประกอบด้วยชั้นหินตะกอนทะเลตื้นอายุยุคแคมเบรียนถึงออร์โดวิเชียน ประมาณ 540 – 440 ล้านปีก่อน โดยไทนโลไบต์ที่ค้นพบนี้มีความหลากหลายในการดำรงชีวิตและหากิน มีทั้งแบบที่หากินตามพื้นท้องทะเล และว่ายน้ำหากินอาหาร
จากความหลากหลายของไทรโลไบต์ที่ค้นพบดังกล่าวนักวิจัยสามารถจัดกลุ่มเขตสิ่งมีชีวิต (Biozone) ที่ปรากฏในช่วงระยะเวลาดังกล่าว และศึกษาถึงวิวัฒนาการของไทรโลไบต์ที่มีความหลากหลายซึ่งแต่ละสายพันธ์มีวิวัฒนาการรูปร่างและถิ่นอาศัยที่แตกต่างกันออกไปเพื่อให้สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันในเขตเดียวกันไป และความสมบูรณ์และความหลากหลายของไทรโลไบต์ยังช่วยให้นักธรณีวิทยาเข้าใจการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะไทรโลไบต์ที่มีความเหมือนกับที่เขตประเทศออสเตรเลียและจีนตอนเหนือ ทำให้เราทราบเส้นทางการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกตั้งแต่ยุคแคมเบรียนจนถึงปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น
ที่มาเนื้อหาและภาพ : Wernette, Shelly & Hughes, Nigel & Myrow, Paul & Sardsud, Apsom. (2023). Trilobites of Thailand's Cambrian–Ordovician Tarutao Group and their geological setting. Papers in Palaeontology. 9: e1516. https://doi.org/10.1002/spp2.1516
เรียบเรียงโดย ศักดิ์ชัย จวนงาม นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ศูนย์พัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ