Machine Learning หมอดูแห่งวงการไอที

Machine Learning หมอดูแห่งวงการไอที

29-04-2022
Machine Learning หมอดูแห่งวงการไอที

หากเอ่ยถึงหมอดู เชื่อว่าหลายคนคงคิดถึงบุคคลที่อาจจะถือไพ่ทาโรต์ หรือตำราเล่มหนาอยู่ในสำนักโหราศาสตร์อันน่าเกรงขาม แต่บทความนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ หมอดูแห่งอนาคตผู้ไร้ตัวตน แต่สามารถทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำเช่นกัน ซึ่งหลายคนอาจจะเคยใช้งานหมอดูผู้นี้ไปแล้วโดยไม่รู้ตัว และ..สมญานามของเขาก็คือ Machine Learning นั่นเอง

คำว่า Machine Learning ถูกนิยามขึ้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2502 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้บุกเบิกวงการเกมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อว่า อาเธอร์ ซามูเอล (Arthur Samuel) ซึ่งหากดูจากความหมายของคำโดยตรงหลายคนอาจเกิดความสับสนว่า Machine Learning คือ การเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานของเครื่องจักรกล แต่แท้จริงแล้ว Machine Learning คือ ศาสตร์หนึ่งที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้เองโดยไม่ต้องเขียนโปรแกรมไว้อย่างชัดเจน เพียงใช้ข้อมูลเบื้องต้นในการวิเคราะห์และเชื่อมโยงด้วยอัลกอริทึมขั้นสูงเพื่อคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น จากหลักการทำงานของ Machine Learning ทำให้คอมพิวเตอร์เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและสามารถต่อยอดความรู้ได้เองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ประเภท  
ตามรูปแบบการเรียนรู้ สามารถแบ่งได้ 3 ประเภท คือ การเรียนรู้แบบมีผู้ช่วยสอน การเรียนรู้แบบไม่มีผู้ช่วยสอน และการเรียนรู้แบบเสริมกำลัง แต่เนื่องจากการเรียนรู้แบบเสริมกำลังมีเนื้อหาค่อนข้างซับซ้อนและต้องใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ บทความนี้จึงขออธิบายเพียงแค่ การเรียนรู้แบบมีผู้ช่วยสอน และการเรียนรู้แบบไม่มีผู้ช่วยสอน

1. การเรียนรู้แบบมีผู้ช่วยสอน (Supervised Learning)

เป็นการเรียนรู้ที่มนุษย์จะใช้ชุดข้อมูลจำนวนหนึ่งในการฝึกสอน เพื่อให้คอมพิวเตอร์ทำนายหรือหาผลลัพธ์ตามที่เราต้องการ เช่น มนุษย์ใส่ชุดข้อมูลรูปแมวไป 4 สายพันธุ์และบอกว่านี่คือแมว คอมพิวเตอร์จ\ะเริ่มวิเคราะห์ว่าถ้ารูปร่าง ลักษณะเป็นแบบนี้คือแมว จากนั้นคอมพิวเตอร์จะสร้างอัลกอริทึมขึ้นมา เมื่อมนุษย์ใส่ข้อมูลแมวสายพันธุ์อื่นเข้าไป คอมพิวเตอร์ก็จะสามารถทำนายได้ว่านี่คือแมว หรือถ้าใส่รูปไก่เข้าไป คอมพิวเตอร์ก็จะสามารถทำนายได้ว่านี่ไม่ใช่แมว

Supervised Learning


2. การเรียนรู้แบบไม่มีผู้ช่วยสอน (Unsupervised Learning)

เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีชุดข้อมูลในการฝึกสอน คอมพิวเตอร์จะต้องวิเคราะห์และหาความสัมพันธ์ของชุดข้อมูลเอง โดยจะเน้นไปที่การหาแบบแผนเพื่อจัดกลุ่มข้อมูล ไม่ใช่เพื่อหาหรือทำนายผลลัพธ์ เช่น มนุษย์ใส่ชุดข้อมูลของสัตว์ชนิดต่าง ๆ คอมพิวเตอร์จะทำการวิเคราะห์และหาแบบแผน เพื่อสร้างอัลกอริทึมสำหรับการจัดจำแนกกลุ่มสัตว์ชนิดต่าง ๆ

Unsupervised Learning

 

Machine Learning อยู่รอบตัวเรา

อ่านมาถึงตรงนี้หลายท่านอาจจะพอเห็นภาพมากขึ้นแล้ว เราจึงขอยกตัวอย่างการใช้งาน Machine Learning ที่ใกล้ตัวมากขึ้น เช่น เมื่อเปิด Google search และค้นหาคำว่า “พิพภัณเทคโนดลยีสารสนเมส” บน ระบบจะไม่ค้นหาคำนี้ให้ แต่จะขึ้นคำที่ถูกต้องคือ “พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ”มาแทน ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ Machine Learning ในการคาดเดาว่าคำที่เราค้นหานั้นไม่ใช่คำที่ถูกต้องและขึ้นคำที่คาดเดาว่าถูกต้องมาแทน และอีกหนึ่งตัวอย่างที่คาดว่าหลาย ๆ คนต้องเคยใช้งานมาแล้วนั่นก็คือ การแท็กเพื่อนบนรูปภาพใน Facebook ที่เราไม่ต้องพิมพ์ชื่อเพื่อนเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพียงเรากดที่รูประบบจะทำนายมาให้เลยว่าเพื่อนคนนี้คือเพื่อนชื่ออะไรบนเฟซบุ๊ก ซึ่งก็คือการใช้ Machine Learning วิเคราะห์ลักษณะต่าง ๆ บนใบหน้าของรูปภาพในบัญชีผู้ใช้นั่นเอง

Exjpg

 

จะเห็นได้ว่า Machine Learning นั้นเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้วิเคราะห์ข้อมูลได้เอง และสามารถทำนายหรือคาดการณ์สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ โดยที่มนุษย์เราไม่ต้องคอยลงโปรแกรมหรืออัพเดตระบบให้อยู่ตลอด คงต้องติดตามกันต่อไปว่าในยุคของข้อมูลมหาศาลนี้ Machine Learning จะสามารถใช้ข้อมูลเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่าที่เป็นอยู่อย่างไร 



ที่มารูปภาพ
[1] https://www.pexels.com/search/code%20/?fbclid=IwAR3WMh-AU41to3WlQB40MO5TegTtSgALRMJKtyC9aW6JDINwnry6uU48r7c



ที่มาของแหล่งข้อมูลอ้างอิง
[1] Bossupsolution. MACHINE LEARNING คืออะไร? (ฉบับชาวบ้านเข้าใจได้). สืบค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2563, จาก https://www.bossup.co.th/site/innovation/machine-learning-คืออะไร/   
[2] Medium. เริ่มเรียน Machine Learning 0–100 zero to Mr.incredible (Introduction). สืบค้นเมื่อ  17 สิงหาคม 2563, จาก https://medium.com/mmp-li/1c58e516bfcd
[3] ThaiProgrammer. อะไรคือ การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning)? (ฉบับมือใหม่). สืบค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2563, จาก https://www.thaiprogrammer.org/2018/12/อะไรคือ-การเรียนรู้ของเ/
[4] TheConversation. What is machine learning. สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2563, จาก https://theconversation.com/what-is-machine-learning-76759



เขียนโดย สุชิราภรณ์ ชัยเฉลิมวรรณ นักวิชาการ กองนิทรรศการ
ตรวจทาน วชิรพันธ์ เจริญเวช นักวิชาการ 5 กองวิชาการ
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ