ภาพจาก : https://www.shutterstock.com/th/image-photo/coronavirus-covid19-outbreak-japan-flag-1694492617
การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้หลายคนเกิดความกังวลว่าตนเองติดเชื้อหรือไม่ เพราะไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งผู้ติดเชื้อบางรายเมื่อรับเชื้อมาแล้ว อาจไม่แสดงอาการ แต่ยังสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ ดังนั้น วิธีสำคัญในการควบคุมการระบาดก็คือการตรวจพบเชื้อและกักตัวให้เร็วที่สุด ปัจจุบันชุดตรวจโรคโควิด 19 ถูกพัฒนาขึ้นด้วยวิธีการตรวจที่ใช้สารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือเลือด ซึ่งมีตั้งแต่วิธีการตรวจที่มีความซับซ้อน ไปจนถึงวิธีการตรวจแบบรวดเร็ว (Rapid test) ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานพยาบาลเลือกใช้
ล่าสุดวันที่ 20 เมษายน 2564 สำนักข่าวซินหัว ประเทศจีน รายงานว่า คณะนักวิจัยชาวญี่ปุ่นจากสถาบันวิจัยริเกน (Riken) มหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) ได้พัฒนาวิธีตรวจโรคโควิด 19 ที่ทราบผลตรวจได้ภายใน 5 นาที วิธีการตรวจแบบใหม่นี้วิเคราะห์ผลโดยการนำตัวอย่างของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มาวางบนจานแก้วแบบพิเศษที่ถูกสร้างขึ้นในระดับไมโคร และมีหลุม 1 ล้านรอยต่อตารางเซนติเมตร ทำหน้าที่เป็นเสมือนห้องตรวจขนาดเล็ก โดยแต่ละหลุมของชุดตรวจนี้จะบรรจุน้ำยาทดสอบไว้ และหากตรวจพบว่าตัวอย่างของสิ่งส่งตรวจมี RNA ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะมีแสงปรากฎขึ้นบนหลุม
สำนักข่าวเอ็นเอชเค (NHK) ของประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า วิธีการตรวจดังกล่าวแตกต่างจากการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีมาตรฐานปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส (Polymerase chain reaction : PCR) ที่ใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมง โดยวิธีการตรวจแบบใหม่ที่รวดเร็วนี้ไม่จำเป็นต้องนำ RNA ของไวรัสโคโรนามาทำการเพิ่มจำนวน เพราะสามารถตรวจจับไวรัสที่มีจำนวนน้อยมากในหลุมของชุดตรวจที่ขนาดเล็กในระดับไมโครดังกล่าวได้ โดยสามารถทราบผลตรวจได้ภายใน 5 นาที
ริกิยะ วาตานาเบ (Rikiya Watanabe) นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากสถาบันวิจัยริเกน ระบุว่า วิธีการตรวจโรคโควิด 19 แบบใหม่นี้ไม่ต้องใช้กระบวนการตรวจที่ซับซ้อน พร้อมเสริมว่าเมื่อวิธีตรวจนี้สามารถผลิตใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ก็จะสามารถนำไปใช้เพื่อคัดกรองผู้ป่วยโรคโควิด 19 ในสถานพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ คณะนักวิจัยระบุว่า เป้าหมายของชุดทดสอบรวดเร็ว (Rapid test) ดังกล่าวคือการผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ให้ได้ภายในเวลา 2-3 ปี
ถึงแม้ว่าการตรวจหาเชื้อโรคโควิด 19 โดยใช้ชุดทดสอบรวดเร็ว (Rapid test) จะมีความสะดวกและรวดเร็ว แต่ก็ไม่ควรนำชุดทดสอบดังกล่าวมาตรวจวินิจฉัยเอง เพราะอาจมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้ หากตรวจสอบในช่วงแรกหลังรับเชื้อหรือเลยช่วง 7-10 วันหลังมีอาการ รวมถึงการเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจากโพรงจมูกที่ไม่ถูกวิธี หรือผู้ใช้แปลผลไม่ถูกต้อง ก็อาจทำให้เกิดผลลบปลอมจนนำไปสู่การแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นและทำเกิดการระบาดเป็นวงกว้างได้
เรียบเรียงโดย : ชนินทร์ สาริกภูติ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สพว. อพวช.
ที่มาข้อมูล :
Japanese researchers develop 5-minute COVID-19 test. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา : http://www.xinhuanet.com/english/2021-04/20/c_139893078.htm [21 เมษายน 2564]