นักวิจัยไทยร่วมมือกัน พิสูจน์การออกฤทธิ์ของยาต้านมาลาเรียตัวใหม่จากยาต้านมะเร็งผ่านเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน แทนการใช้ยาคลอโรควิน (Chloroquine) ที่ใช้รักษาโรคมาลาเรียมานานหลายทศวรรษ จนเกิดการดื้อยา
วันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา เว็บไซต์ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ประเทศไทย รายงานว่า ดร.บัวบาล กัวประเสริฐ นักวิจัย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ร่วมกับนักวิจัยจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า สถาบันวิทยสิริเมธี และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค้นพบยาต้านเชื้อมาลาเรียชนิดใหม่จากฐานข้อมูลยาต้านมะเร็ง โดยใช้เครื่องมือซินโครตรอนในการพิสูจน์การออกฤทธิ์ของยาดังกล่าวในการต้านการเจริญของเชื้อพลาสโมเดียม (Plasmodium) ระยะวงแหวน (Ring stage) ซึ่งเป็นระยะแรกที่เชื้อเข้าไปอยู่ในเม็ดเลือดแดง โดยใช้ความเข้มข้นใกล้เคียงกับยาคลอโรควิน (Chloroquine) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษามาลาเรียมานานหลายทศวรรษ แต่ปัจจุบันยาคลอโรควินเริ่มใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากเชื้อโรคเริ่มดื้อยามากขึ้น นักวิจัยจึงพยายามพัฒนาตัวยาใหม่ๆ เพื่อมารับมือกับโรคนี้
งานวิจัยได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของยาต้านมะเร็งรหัส NSC45545 ด้วยแสงซินตรอน โดยใช้เทคนิค Fourier Transform Infrared Spectrometer (FT-IR) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ตรวจการติดเชื้อมาลาเรียในเม็ดเลือดแดงจากการวัดค่าการดูดกลืนแสงอินฟราเรดช่วงความยาวคลื่น 1,210 – 1,220 นาโนเมตร เมื่อนำตัวอย่างเม็ดเลือดแดงที่มีการติดเชื้อพลาสโมเดียมในระยะวงแหวนที่ถูกให้ยา NSC45545 กับตัวอย่างที่ถูกให้ยาคลอโรควิน มาวิเคราะห์ด้วยเทคนิค FT-IR ไม่พบการดูดกลืนแสงอินฟราเรดช่วงคลื่นดังกล่าว ซึ่งต่างจากเม็ดเลือดแดงติดเชื้อที่ไม่ได้รับยากลับมีการดูดกลืนคลื่นแสงในช่วงดังกล่าวอย่างชัดเจน จึงยืนยันได้ว่ายาต้านมะเร็ง NSC45545 สามารถยับยั้งเชื้อมาลาเรียได้เช่นเดียวกับยาคลอโรควิน
งานวิจัยนี้อยู่ในกระบวนการทดสอบในสัตว์ทดลอง และทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ปกติของมนุษย์ เพื่อนำไปพัฒนายาต้านมาลาเรียชนิดใหม่ต่อไปในอนาคต
แหล่งที่มาของข่าว
ผู้เรียบเรียง
ศรสวรรค์ เลี่ยมทอง
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ