“หยวนดิจิทัล” ความท้าทายใหม่แห่งโลกการเงิน

“หยวนดิจิทัล” ความท้าทายใหม่แห่งโลกการเงิน

29-04-2022
“หยวนดิจิทัล” ความท้าทายใหม่แห่งโลกการเงิน

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 เว็บไซต์ข่าว asiacryptotoday.com ได้รายงานว่า รัฐบาลจีนได้เปิดตัว “หยวนดิจิทัล” มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Digital Currency Electronic Payment (DCEP) เป็นสกุลเงินที่ถูกสร้างขึ้นโดยธนาคารกลางของจีน ซึ่งจะแทนที่เงินรูปแบบเดิมที่เป็นกระดาษ หยวนดิจิทัลเป็นเงินที่มีกฎหมายและมีความน่าเชื่อถือเนื่องจากมีการรองรับจากรัฐบาลจีน แท้จริงแล้วเงินหยวนดิจิทัลนั้นไม่ใช่เงินสกุลใหม่แต่อย่างใด แต่เกิดจากรัฐบาลจีนต้องการแก้ปัญหาระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นจึงสร้างสกุลเงินนี้ขึ้นมา โดยหยวนดิจิทัลได้รับความร่วมมือจากหลากหลายบริษัท เช่น Tensent, Huawei และ China Merchants Bank อีกทั้งสกุลเงินนี้จะถูกเชื่อมโยงเข้ากับแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น แพลตฟอร์มบริการชำระเงินจะอ้างอิงกับค่าเงินหยวนแบบ 1:1 นั่นหมายความว่าถ้าเงินหยวนมีค่าเท่าไร หยวนดิจิทัลก็จะมีค่าเท่านั้น โดยผู้ใช้สามารถใช้เงินหยวนดิจิทัลแทนรูปแบบกระดาษได้เลยเพราะมีมูลค่าเท่ากัน แค่ปรับเปลี่ยนรูปแบบจากกระดาษมาเป็นแบบดิจิทัลเท่านั้น

เงินหยวนดิจิทัลจะถูกทดลองใช้งานนำร่องก่อนใน 4 เมืองแรกของจีน คือ เซินเจิ้น, ซูโจว, สงอัน และเฉิงตู โดยการทดลองใช้งานนี้จะมีระยะเวลาถึง 6-12 เดือน ซึ่งร้านค้าหลาย ๆ ราย เช่น McDonald’s, Starbucks และ Subway ก็อยู่ในระหว่างการพิจารณาร่วมทดลองการใช้เงินหยวนดิจิทัลนี้ รวมถึงยังมีแผนที่จะนำเข้าไปใช้ในระบบของรัฐอีกด้วย นอกจากนี้เงินเดือนพนักงานของรัฐก็จะถูกจ่ายผ่านทางหยวนดิจิทัลเช่นกัน

อย่างไรก็ตามหากการทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลนั้นประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี ประเทศจีนก็จะเข้าสู่สังคมแบบไร้เงินสดอย่างครบวงจรมากขึ้น โดยการสนับสนุนจากภาครัฐถือเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงของวงการ การเงินทั่วโลกสู่ยุคดิจิทัลในอนาคต

 

ที่มาของภาพ
https://cryptointrend.com/china-begins-phase-2-of-digital-yuan-roll-out/


ที่มาของแหล่งข้อมูลอ้างอิง 
[1] “สกุลเงินหยวนดิจิทัล” [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://techsauce.co/news/yuan-digital-the-new-china-currency ค้นเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 63
[2] “china digital yuan” เข้าถึงได้จาก https://www.asiacryptotoday.com/china-digital-yuan-dcep/#Wallet_App ค้นเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 63


เขียนโดย วัลลี พาละพล กองนิทรรศการ
ตรวจทาน สุชิราภรณ์ ชัยเฉลิมวรรณ นักวิชาการ กองนิทรรศการ
          วรรณภา แก้วล้วน วิทยากร 4 กองนิทรรศการ
          วรรณวจี สุจริตธรรม นักวิชาการ 5 กองวิชาการ
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ