เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 Hungtang Ko และ David L. Hu จาก Schools of Mechanical Engineering, Georgia Institute of Technology แอตแลนตา สหรัฐอเมริกา ได้รับการเผยแพร่ผลงานวิจัยผ่าน Royal Society Interface เรื่องหลักฟิสิกส์ในการสะบัดข้าวผัด ซึ่งเทคนิคการสะบัดข้าวผัดนี้มีมานานราว 1,500 ปี จากการศึกษาวิเคราะห์ภาพการเคลื่อนไหวของเชฟห้าคนในร้านอาหารจีน เชฟจะสะบัดกระทะเพื่อให้ข้าวผัดลอยขึ้นไปสัมผัสกับอากาศก่อนที่มันจะตกลงมาสัมผัสกับกระทะซ้ำแล้วซ้ำอีก การทำแบบนี้จะทำให้ข้าวผัดสุกพอดีโดยไม่ไหม้เมื่อใช้เตาแก๊สความร้อนสูงกว่า 1,200 องศาเซลเซียส
Hungtang Ko และ David L. Hu วิเคราะห์รายละเอียดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของเชฟและรายงานว่าการเขย่าและการสะบัดกระทะในสองทิศทางของเชฟนั้นเร็วมากประมาณสามครั้งต่อวินาที เมื่อสังเกตเส้นสีน้ำเงินด้านซ้ายในภาพกระทะจะหมุนแนวหน้า-หลังตามเข็มนาฬิกา และเส้นสีน้ำเงินด้านขวาแสดงการหมุนด้ามกระทะในแนวซ้าย-ขวาโดยหมุนทวนเข็มนาฬิกา ส่วนเส้นสีแดงแสดงการเคลื่อนของข้าวที่ลอยขึ้นและกลับสู่ก้นกระทะ
จากการจำลองวิถีการเคลื่อนตัวของข้าวในกระทะ พวกเขาได้พบเคล็ดลับการทำอาหารที่สำคัญว่าหากเขย่าและสะบัดกระทะไม่สัมพันธ์กันนั้นข้าวจะคลุกเคล้าไม่เข้ากันและจะไหม้ได้ การสะบัดกระทะในทิศทางที่ถูกต้องซ้ำ ๆ อย่างรวดเร็วทำให้อาหารลอยตัวสัมผัสกับอากาศป้องกันการไหม้เมื่อใช้เตาแก๊สความร้อนสูงเพื่อผัดอาหารให้เสร็จเร็วขึ้น
แต่การสะบัดกระทะเร็วมาก ๆ นั้นเป็นเรื่องยากเพราะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เชฟในร้านอาหารจีนต้องทนกับอาการปวดไหล่ พวกเขาจึงแนะนำว่าน่าจะใช้ข้อมูลวิจัยนำไปสร้างหุ่นยนต์เพื่อช่วยในการผัดอาหารต่อไป
อ้างอิง
H. Ko and D.L. Hu. The physics of tossing fried rice.Journal of the Royal Society Interface. Published online February 12, 2020. doi:10.1098/rsif.2019.0622.
Link ที่มาของแหล่งข้อมูล:
https://royalsocietypublishing.org/doi/10.1098/rsif.2019.0622
https://www.sciencenews.org/article/how-make-best-fried-rice-according-physics-video
https://youtu.be/ywfBSnXklfk
ผู้เขียน: นายสัตตะพงศ์ ชอบกตัญญู
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นายปริญญา เพชรประพันธ์ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการ