Apple และ Google สองยักษ์ใหญ่แห่งวงการไอที ผนึกกำลังสร้างช่องทางช่วยโลกจากภาวะการระบาดของโรค COVID 19 ผ่านกลไกการเชื่อมโยงข้อมูล
จากอุปกรณ์สื่อสารเพื่อบันทึกและติดตามผู้ติดเชื้อ หวังลดการแพร่เชื้อต้นเหตุให้ได้เร็วที่สุด
สำนักข่าว The Guardian แห่งอังกฤษรายงานข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 10 เมษายน 2563 ถึงความร่วมมือของสองยักษ์ใหญ่แห่งวงการไอที คือ Apple และ Google
ที่จะพัฒนาแอพลิเคชั่นที่ผสานกับเทคโนโลยีบลูทูธที่มีอยู่ในอุปกรณ์สื่อสารของเราทั้งหลายให้กลายเป็นเครื่องมือติดตามและช่วยเตือนให้เราทราบ
หากเรามีความเสี่ยงที่จะติดโรค COVID 19 เข้าโดยบังเอิญจากคนใดคนหนึ่งที่ผ่านเข้ามาใกล้เราแล้วตรวจพบว่าเขาคนนั้นป่วยเป็น COVID 19 ขึ้นมาภายหลัง
ซึ่งสามารถช่วยเตือนให้เราทำการกักตัวเองได้ในทันทีและไม่เป็นการแพร่กระจายเชื้อต่อไปโดยไม่ตั้งใจอีกด้วย
กลไกดังกล่าวเป็นการจัดการผลระหว่างตัวแอพลิเคชั่น Contact-Tracing และระบบบลูทูธ ซึ่งสัญญานบลูทูธจากโทรศัพท์สมาร์ทโฟนจะเป็นสื่อกลางเชื่อมโยง
เข้ากับเครื่องอื่นๆที่เจ้าของเครื่องยินยอมที่จะเปิดใช้งานด้วยตนเองเอาไว้แล้ว โดยทั้ง Apple และ Google ได้ตกลงกันที่จะเปิดให้ระบบปฏิบัติการ Android
และ iOS สามารถทำงานร่วมกันได้ในการส่งและรับข้อมูลเพื่อนำไปเข้ารหัสแบบไม่ระบุตัวตน นำสู่ระบบการบันทึกและติดตามผู้เสี่ยงติดเชื้อต่อไป ดังนั้นผู้ที่
สมัครใจใช้กลไกดังกล่าวนี้ต้องมีการยินยอมให้โทรศัพท์ของตนเข้าสู่ระบบติดตามและรับส่งข้อมูลกับภายนอกได้ด้วย ซึ่งทั้ง Google และ Apple ต่างตกลง
และร่วมกันออกแบบโดยคำนึงถึงความเป็นส่วนตัว (Privacy) และความปลอดภัยของผู้ใช้เป็นหลัก โดยเน้นไปที่การตรวจสอบติดตามผู้สัมผัสหรือเข้าใกล้
ผู้ป่วย COVID 19มากกว่าการ Tracking location
การทำงานของระบบดังกล่าวนั้นเริ่มต้นเมื่อเจ้าของสมัครใจใช้โดยแสดงความยินยอมในการติดตั้งแอพลิเคชั่นเพื่อใช้งาน โดยเมื่อผู้ใช้เดินทางไปในกลุ่มคน
ที่ต่างก็มีการใช้งานระบบเดียวกันอยู่ โทรศัพท์ก็จะเกิดการสื่อสารสัญญานบลูทูธถึงกันผ่านแอพลิเคชั่น Contact-Tracing และเก็บข้อมูลเข้ารหัสเอาไว้ใน
โปรแกรมว่ามีการพบเจอใครบ้างในช่วงเวลาใด และเมื่อเวลาผ่านไปหากหนึ่งในคนที่เราไปพบเจอหรือเข้าใกล้ ได้รับการตรวจวิเคราะห์จากเจ้าหน้าที่สาธารณะสุข
ยืนยันว่าเป็นโรค COVID 19 เจ้าหน้าที่หรือผู้ติดเชื้อก็จะสามารถทำการบันทึกลงไปในตัวแอพลิเคชั่นได้เพื่อเริ่มโปรแกรมการกักตัว และหากผู้ติดเชื้อยินยอม
ที่จะเผยแพร่ว่าตนติดโรค COVID 19 เขาก็จะสามารถสั่งให้ระบบแจ้งเตือนบุคคลผู้มีความเสี่ยงทำงานได้ในทันที ซึ่งระบบก็จะเริ่มค้นหาว่าตลอดเวลา 14 วันที่ผ่านมา
มีโทรศัพท์เครื่องไหนอยู่ในความเสี่ยงบ้าง จากนั้นระบบจะส่งสัญญานเพื่อแจ้งไปที่โทรศัพท์ให้เจ้าของโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวทราบว่าเขาเหล่านั้นมีความเสี่ยงที่
จะติดโรคนี้ และเตือนให้เริ่มกักตัวเป็นเวลา 14 วันโดยทันที เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อสู่คนอื่นต่อไปอย่างไม่ตั้งใจ
ปัจจุบัน โลกมีผู้ติดเชื้อเข้าใกล้ 2 ล้านคน และมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าหนึ่งแสนรายแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในทุกที่ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ยกเว้นประเทศจีนซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่กระจายเชื้อนี้ ความพยายามในการยุติการระบาดของโรคนี้คือสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน การผนึกกำลังกันของคู่แข่งขัน
ในวงการไอทีของโลกอย่าง Apple และ Google เป็นตัวอย่างหนึ่งของความพยายามร่วมกันที่จะรับมือโรคระบาดนี้ อย่างไรก็ตามระบบ Contact-Tracing นี้อาจจะ
มีอุปสรรคที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ เนื่องมาจากประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวและความร่วมมือในการติดตั้งใช้งานระบบดังกล่าวอย่างแพร่หลาย
ผู้เขียน
ชนินทร์ สุริยกุล ณ อยุธยา
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ อพวช.
ที่มารูปภาพ
https://techcrunch.com/2020/04/10/apple-and-google-are-launching-a-joint-covid-19-tracing-tool/
ที่มาแหล่งของข้อมูล
https://www.theguardian.com/world/2020/apr/10/apple-google-coronavirus-us-app-privacy
https://www.thairath.co.th/news/tech/1817896
https://techcrunch.com/2020/04/10/apple-and-google-are-launching-a-joint-covid-19-tracing-tool/