นักสมองพบ แพเรนตีส (Parentese) เสียงแห่งรักกระตุ้นเด็กให้พัฒนา

นักสมองพบ แพเรนตีส (Parentese) เสียงแห่งรักกระตุ้นเด็กให้พัฒนา

29-04-2022
นักสมองพบ แพเรนตีส (Parentese) เสียงแห่งรักกระตุ้นเด็กให้พัฒนา

การพูดคุยสนทนากับลูกน้อยแรกเกิดด้วยความรักของพ่อแม่อย่างสม่ำเสมอจะช่วยทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของเด็กด้วยเช่นกัน การพูดคุยที่พ่อแม่หลายคนมักจะล้อเลียนเสียงโต้ตอบของเด็ก ด้วยเสียงสูงๆ ต่ำ ๆ เป็นจังหวะ คล้ายกับเสียงเพลงที่มีท่วงทำนองที่น่าตื่นเต้น พร้อมกับรอยยิ้มแห่งความสุข ที่เรียกว่า แพเรนตีส (Parentese) ยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาการสื่อสารของเด็ก ๆ อีกด้วย

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ได้มีงานวิจัยของ ศาสตราจารย์แพทริเชีย คูฮ์ล และ ศาสตราจารย์ เฟอร์จัน รามิเรซ นักวิจัยทางด้านสมองจากสถาบันเพื่อการเรียนรู้และวิทยาศาสตร์สมอง (the Institute for Learning & Brain Sciences: I-LABS) ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Academy of Science) ประเทศสหรัฐอเมริกา

พวกเขาได้ทำการศึกษาว่า การสอนของผู้ปกครองส่งผลอย่างไรต่อลูกน้อย และพบว่าการสอนของผู้ปกครองส่งผลต่อพัฒนาการด้านการสนทนาระหว่างผู้ปกครองและเด็กๆ นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ปกครองที่พูดคุยกับลูกด้วยรูปแบบการพูดแบบ แพเรนตีส (Parentese) ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านการฟังและยังกระตุ้นให้เด็กส่งเสียงโต้ตอบผู้ปกครองได้ดี ศาสตราจารย์แพทริเชีย คูฮ์ล กล่าวว่า “ที่ผ่านมาเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าการพูดคุยด้วยความรักในรูปแบบ แพเรนตีส (Parentese) มีผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยเป็นอย่างมาก แต่เรายังไม่สามารถระบุได้ว่าวิธีการพูดคุยแบบนี้ส่งผลอย่างไรกับเด็ก พวกเราจึงได้ทำการศึกษาอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2562”

ซึ่งพวกเขาได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างเด็กอายุ 6 เดือนที่ถูกเลี้ยงดูจากผู้ปกครอง 2 กลุ่ม ซึ่งได้รับการอบรมเทคนิคการสื่อสารกับลูกด้วยการพูดคุยแบบ แพเรนตีส (Parentese) อย่างเต็มรูปแบบ และไม่เต็มรูปแบบ โดยกลุ่มแรกได้รับการสอนการใช้คำศัพท์จำนวน 100 คำในการสนทนากับลูกๆ ในขณะที่อีกกลุ่มจะได้รับคำแนะนำให้ใช้คำศัพท์เพียง 60 คำในการสนทนา โดยผู้ปกครองจะทำการพูดคุยกับเด็ก ๆ ตลอดทั้งสัปดาห์เมื่อเด็กมีอายุ 6, 10, 14 และ 18 เดือน พร้อมกับทำการบันทึกการสนทนาระหว่างเด็กและผู้ปกครองตามช่วงอายุดังกล่าว

จากการศึกษาพบว่า เด็กทารกที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยผู้ปกครองที่ได้รับการอบรมเทคนิคการพูดแบบ แพเรนตีส (Parentese) อย่างเต็มรูปแบบสามารถสื่อสารและโต้ตอบผู้ปกครองได้เร็วและดีกว่าเด็กอีกกลุ่ม และเด็ก ๆ เหล่านี้ยังสามารถเข้าใจและพูดคำศัพท์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีตั้งแต่พวกเขามีอายุ 14 เดือน นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็ก ๆ กลุ่มที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยการพูดคุยแบบ แพเรนตีส (Parentese) ยังสามารถพัฒนาการสื่อสารได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็วกว่าเด็กอีกกลุ่ม ดังนั้น การพูดคุยกับลูกน้อยด้วยความรัก ความอบอุ่น พร้อมกับการพูดคุยแบบ แพเรนตีส (Parentese) จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กให้สามารถพูดคุยสื่อสารได้ดียิ่งขึ้น

ผู้เขียน: วิลาสินี ไตรยราช
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ อพวช.

ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference)

Naja Ferjan Ramírez, Sarah Roseberry Lytle, Patricia K. Kuhl. Parent coaching increases conversational turns and advances infant language development. Proceedings of the National Academy of Sciences, Feb. 3, 2020 DOI: 10.1073/pnas.1921653117 จาก https://www.sciencedaily.com/releases/2020/02/200203151158.htm เข้าถึงข้อมูลวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563

ค้นคว้าเพิ่มเติม

ข่าวสารที่่คล้ายกัน