เมื่อย่างเข้าหน้าฝน ก็ถึงคราวของฤดูจับคู่ผสมพันธุ์ของสัตว์หลากหลายชนิด สำหรับนกในบางชนิดนั้น นอกเหนือจากลีลาเกี้ยวพาราศีแล้ว ยังมีการผลัดขนให้มีสีสันสะดุดตาเพื่อเป็นที่ดึงดูดความสนใจจากคู่ที่เป็น เพศตรงข้าม เช่น นกยางควาย นกยางกรอกพันธุ์ชวา นกยางกรอกพันธุ์จีน เป็นต้น บางชนิดผลัดขนเฉพาะแต่ตัวผู้ เช่น นกกระจาบทอง เป็นต้น ส่วนบางชนิดตัวเมียเป็นฝ่ายผลัดขน เช่น นกอีแจวตัวเมีย เป็นต้น
สำหรับเป็ดแมนดาริน (Aix galericulata) ที่จัดอยู่ในวงศ์นกเป็ดน้ำและมีถิ่นกำเนิดในเอเชียกลาง นั้น ตามปกติแล้วตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่เมื่อถึงฤดูจับคู่ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของทุกปี ตัวผู้จะเป็นฝ่ายผลัดขน แต่บางครั้งพบว่าเป็ดแมนดารินตัวเมียก็มีการผลัดขนเหมือนอย่างตัวผู้เช่นกัน ซึ่งไม่เพียงแต่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบสืบพันธุ์อีกด้วย!
กรณีนี้แตกต่างไปจากการเปลี่ยนเพศผู้ไปเป็นเพศเมียในปลาตัวเดียวกันที่เรียกว่า การกลายเป็นกะเทยตามลำดับ (Sequential Hermaphroditism) เช่นที่พบได้ในปลาบางชนิดในวงศ์ปลากะรัง (Serranidae) และปลาการ์ตูนในวงศ์ปลาสลิดหิน (Pomacentridae) ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมเป็นตัวกำหนดมากกว่าโดย พันธุกรรม
แต่ในสัตว์ปีกทุกชนิดนั้น จะมีการกำหนดเพศโดยโครโมโซมในระบบ ZW โดยที่ตัวผู้จะมีโครโมโซมแบบ ZZ ขณะที่ตัวเมียนั้นจะมีโครโมโซมแบบ ZW จัดเป็นเพศผันแปร โดยจำนวนสำเนาของยีน DMRTI ที่อยู่บนโครโมโซม Z เป็นตัวกำหนดเพศ (ในคนจะถูกกำหนดโดยยีน SRY ที่อยู่บนโครโมโซม Y ตามระบบ XY) ด้วยเหตุนี้ จึงมีโอากสที่จะเกิดการผันแปรทางเพศในเป็ดแมนดารินตัวเมียได้ หากเกิดความผิดปกติของโครโมโซม
กรณีของสัตว์ปีกที่เป็นตัวเมียนั้น จะมีรังไข่ที่ใช้งานได้เพียงข้างเดียว คอยทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศเมีย (Estrogen) ออกมายับยั้งโครโมโซมเพศ Z ในตัวเองไม่ให้แสดงลักษณะของเพศผู้ออกมา หากเกิดความผิดปกติขึ้นกับรังไข่ เช่น การติดเชื้อ จนไม่สามารถผลิตอร์โมนนี้ต่อไปได้ จะส่งผลให้รังไข่ข้างที่เคยฝ่อเปลี่ยนแปลงไปเป็นถุงน้ำเชื้อ (Testes) และผลิตน้ำเชื้อที่แม้ว่าจะมีประสิทธภาพ สามารถนำไปผสมกับเซลล์ไข่ในห้องปฏิบัติการพัฒนาและเจริญขึ้นเป็นตัวอ่อนได้สำเร็จ แต่จะยังไม่มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นอวัยวะสืบพันธุ์อย่างสมบูรณ์ ในเป็ดแมนดารินตัวเมียที่พบว่ารังไข่ผิดปกติจนเปลี่ยนเพศไปเป็นตัวผู้นั้น มักมีอายุขัยที่สั้นกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นแก่ร่างกายนั่นเอง
ส่วนกรณีของนกคาร์ดินัลและไก่บ้านที่แสดงลักษณะขนของเพศผู้และเพศเมียภายในตัวเดียวกันและมีการแบ่งซีก อย่างชัดเจนนั้น เกิดได้ทั้งจากการรวมกันของตัวอ่อนเพศผู้และเพศเมียที่แยกออกจากกันหรือการปฏิสนธิซ้อนของตัวอ่อนเพศเมียที่มีความผิดปกติ ซึ่งขอยกไปเล่าถึงในบทความหน้า
ผู้เรียบเรียง : นางสาวปัฑารีย์ สุวรรณลาภเจริญ
ที่มาของภาพ : https://www.bbc.com/news/science-environment-40016817
นายชลวิทย์ ทองเจริญชัยกิจ
ที่มาข้อมูล :
Rory Galloway. How does a duck change its sex? [Online]. 2017, แหล่งที่มา: https://www.bbc.com/news/science-environment-40016817 [8 เมษายน 2563]
Jenny Graves. How birds become male or female, and occasionally both [Online]. 2019, แหล่งที่มา: https://theconversation.com/how-birds-become-male-or-female-and-occasionally-both-112061