ด้วยสถานการณ์โรคระบาดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 หรือที่เรียกว่าโรคโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ต้องการชุดและอุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากรทางแพทย์เป็นจำนวนมาก จนอาจไม่เพียงพอแก่การใช้งาน โรงพยาบาลราชวิถีจึงได้นำงานวิจัยจาก “โครงการวิจัยการพัฒนาหน้ากากป้องกันสารเคมี-ชีวะ สำหรับพลประจำรถถัง” โดยมี รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนเป็นหัวหน้าโครงการดังกล่าว เพื่อมาพัฒนาเป็นหน้ากากป้องกันเชื้อไวรัสที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ โดยหน้ากากดังกล่าวได้ผ่านการทดสอบมาตรฐานระดับโลกแล้ว และจะผลิตโดยใช้ยางพาราในประเทศไทย รวมถึงวัสดุที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ มีการทดสอบการรั่วซึมของระบบหายใจ ผู้สวมใส่สามารถดื่มน้ำผ่านท่อได้โดยไม่ต้องถอดหน้ากาก และมีน้ำหนักราว 800 กรัม ซึ่งจะไม่เป็นภาระให้กับผู้สวมใส่มากนัก อย่างไรก็ตามในส่วนของไส้กรองอากาศเพื่อป้องกันไวรัสและสารเคมีนั้น ยังต้องขอรับบริจาคจากต่างประเทศอยู่ ด้านกองทัพบกเองก็ยินดีให้นำงานวิจัยทางทหารไปใช้ในทางการแพทย์ และพร้อมจะฝึกวิธีการใส่อุปกรณ์ดังกล่าวให้กับบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการควบคุมการผลิต โดยคาดว่าจะผลิตได้วันละ 100 ชิ้น ขณะนี้รัฐได้มีความเห็นชอบให้ผลิตหน้ากากดังกล่าวแล้ว หากราชวิถีโมเดลนี้สำเร็จได้จริงก็จะผลิตให้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ ต่อไปด้วย นอกจากนี้ยังมีการวางแผนจะนำหน้ากากนี้ไปใช้เพื่องานดับไฟป่าด้วย นับเป็นผลงานความร่วมมือ 3 ประสาน จากหน่วยงานด้านการศึกษาและวิจัย หน่วยงานการแพทย์ และหน่วยงานทางทหาร เพื่อประโยชน์ของประเทศและคนในชาติอย่างแท้จริง
ผู้เขียน
วารี อัศวเกียรติรักษา
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ อพวช.
ที่มาของรูปภาพ
https://www.engineeringtoday.net/wp-content/uploads/2020/04/Mask-COVID-19-01.jpg
https://www.engineeringtoday.net/wp-content/uploads/2020/04/Mask-COVID-19-02.jpg
ที่มาของแหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2020/04/11/adapt-military-mask-to-medical-mask-fight-covid/