สหภาพยุโรปอนุมัติใช้ “หัวใจเทียม” : ทางเลือกผู้ป่วยเสี่ยงหัวใจล้มเหลว

สหภาพยุโรปอนุมัติใช้ “หัวใจเทียม” : ทางเลือกผู้ป่วยเสี่ยงหัวใจล้มเหลว

29-04-2022
สหภาพยุโรปอนุมัติใช้ “หัวใจเทียม” : ทางเลือกผู้ป่วยเสี่ยงหัวใจล้มเหลว

ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางการแข่งขันด้านเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และ หุ่นยนต์ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นจักรกลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ออก และในอนาคตจักรกลที่กล่าวมานี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเรา

ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 สหภาพยุโรป (European Union: EU) อนุมัติให้มีการใช้หัวใจเทียม (Total Artificial Heart) เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวที่ต้องการเปลี่ยนถ่ายหัวใจ ทำให้บริษัทการ์มัท (Carmat) ประเทศฝรั่งเศส ผู้พัฒนาหัวใจเทียมวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตหัวใจเทียมเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการหัวใจเทียมสำหรับผู้ป่วยในทวีปยุโรป

ข้อมูลบนเว็บไซต์ของบริษัทการ์มัทระบุว่าหัวใจเทียมที่ผลิตได้นั้น ได้รับการพัฒนาให้มีการทำงานใกล้เคียงกับหัวใจจริงๆ มากที่สุด โดยประกอบด้วยลิ้นหัวใจเทียม 4 ลิ้น เพื่อช่วยควบคุมการไหลเวียนของเลือดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ห้องหัวใจเทียม 2 ห้องที่ผลิตจากวัสดุที่เข้ากันได้ทางชีวภาพ (Biocompatible Materials) ซึ่งไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ยังมีปั๊มจิ๋วช่วยในการสูบฉีดเลือด และเซนเซอร์ที่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของร่างกายผู้รับการปลูกถ่ายหัวใจเทียม

รายงานจากสำนักข่าวในประเทศฝรั่งเศสระบุว่า บริษัทการ์มัทได้ทดสอบการทำงานหัวใจเทียมรุ่นเดิมในอาสาสมัครในยุโรปมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 พบรายงานผู้เข้ารับการทดสอบปลูกถ่ายหัวใจเทียม 5 ราย จากทั้งหมด 30 ราย ในช่วงอายุ 58-76 ปี เสียชีวิตหลังการปลูกถ่ายอย่างน้อย 75 วัน ส่งผลให้ใน พ.ศ. 2559 สำนักงานความมั่นคง และการแพทย์แห่งชาติในยุโรปประกาศระงับการทดสอบหัวใจเทียม แม้ว่าบริษัทจะชี้แจงว่าสาเหตุการเสียชีวิตไม่เกี่ยวข้องกับทำงานของหัวใจเทียม ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 สำนักงานความมั่นคง และการแพทย์แห่งชาติในยุโรปได้ยกเลิกประกาศดังกล่าวโดยคาดหวังว่าการพัฒนาหัวใจเทียมจะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อภาวะเสี่ยงหัวใจล้มเหลวได้มากกว่าวิธีการอื่น ส่งผลให้บริษัทการ์มัทเร่งการพัฒนา และทดสอบหัวใจเทียมอีกครั้ง

การอนุมัติให้มีการใช้หัวใจเทียมที่มีการพัฒนาขึ้นมาใหม่นี้ในสหภาพยุโรปไม่เพียงเป็นความหวังในการต่อลมหายใจให้กับผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวในยุโรป แต่ยังเป็นความหวังของผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน เพราะสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ได้ยินยอมให้บริษัทการ์มัททำการศึกษาการปลูกถ่ายหัวใจเทียมในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา จึงนับเป็นข่าวดีต้นปี พ.ศ. 2564 ที่มอบความหวังให้กับผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อภาวะเสี่ยงหัวใจล้มเหลวทั่วโลก

51469815 2418616958191140 3641967258659454976 o

เรียบเรียงโดย ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

Link ที่เกี่ยวข้อง:

European Regulators Approve Sales of First Artificial Heart. [ออนไลน์]. [24 ธันวาคม 2020],
แหล่งที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-12-24/france-s-carmat-soars-as-artificial-heart-hopes-become-reality

EU Approves Sales of First Total Artificial Heart. [ออนไลน์]. [21 มกราคม 2021],
แหล่งที่มา:https://www.iflscience.com/health-and-medicine/eu-approves-sales-of-first-total-artificial-heart/?fbclid=IwAR284Trj8-Svf-aftlWbkvQzown6n1p0YmQ72m_5g57X2Apf_wbGTf2KEc4

FDA OKs Use New Version of Carmat Artificial Heart in U.S. Early Feasibility Study. [ออนไลน์]. [10 กุมภาพันธ์ 2021],                                                                                                 แหล่งที่มา: https://www.dicardiology.com/content/fda-oks-use-new-version-carmat-artificial-heart-us-early-feasibility-study

Implantation of Carmat’s Artificial Heart Begins in Denmark to Beat Low Enrolment. [ออนไลน์]. [21 กุมภาพันธ์ 2018],                                                                                                   แหล่งที่มา: https://www.labiotech.eu/more-news/artificial-heart-failure-carmat/

The Carmat Total Artificial Heart. [ออนไลน์],
แหล่งที่มา: https://www.carmatsa.com/en/our_product/